สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่สนใจ ข่าวคราวความเคลื่อนไหวทางการศึกษาทุกท่าน สารฉบับนี้จะคุยเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวด้านโอกาสในการเข้าถึงบริการการศึกษา (Access) ด้านคุณภาพการศึกษา (Quality) และด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ (Efficiency) ดังนี้ครับ
๑. ด้านโอกาสในการเข้าถึงบริการการศึกษา
หากท่านทั้งหลายได้มีโอกาสได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๘ ในมาตรา ๒๘๖ (๑) ที่ระบุว่า “ลดบทบาทของรัฐจากการเป็นผู้จัดการศึกษาเป็นผู้จัดให้มีการศึกษา” เจตนารมณ์ตรงนี้ก็เพียงต้องการลดบทบาทภาครัฐที่ตัองเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาแต่เพียงผู้เดียวทั้งหมดเป็นใครก็ได้ที่มีความพร้อมในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพก็สามารถจัดการศึกษาได้ เรื่องนี้มิใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด เพราะปัจจุบันก็ดำเนินการอยู่แล้ว นั่นคือ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา ๑๒ ได้ระบุไว้ว่า “นอกจากรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิ์ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน” และมาตรา ๑๔ ระบุว่า หากผู้ใดจัดการศึกษา รัฐต้องสนับสนุนในเรื่อง องค์ความรู้ ค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา การลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้เรายังไม่สามารถดำเนินการตามมาตรา ๑๔ ได้เต็มที่นัก ผู้จัดการศึกษา โดยครอบครัวและสถานประกอบการเท่านั้นที่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัว ผู้จัดการศึกษาโดยศูนย์การเรียนยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนใดๆ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ กำลังดำเนินการขอตกลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอตั้งงบประมาณให้ และถึงแม้ว่าผู้จัดการศึกษาโดยครอบครับและสถานประกอบการจะได้รับเงินอุนหนุนรายหัวนักเรียนแล้วก็ตาม ในความเป็นจริงควรได้รับงบประมาณด้านบุคลากรด้วย ซึ่งจะต้องเหมือนกับที่รัฐสนับสนุนโรงเรียนเอกชน ที่มีงบบุคลากรรวมอยู่ในงบอุดหนุนรายหัวด้วยแล้ว จากร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้น หลายกลุ่มก็รวมตัวกันแต่งชุดดำ และขึ้นป้าย “เราไม่ย้าย ไม่ถ่าย ไม่โอน” ศึกษารายละเอียดประกอบร่างรัฐธรรมนูญ และผลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนกันก่อนเถอะครับ
๒. ด้านคุณภาพการศึกษา
เราต้องยอมรับกันนะครับว่า เรายังไม่ค่อยพึงพอใจกับคุณภาพการจัดการศึกษาของเราเท่าไรนัก ตัวชี้วัดคุณภาพการจัดการศึกษามีหลายตัว แต่ที่สาธารณชนรับรู้และให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ก็คือผลการประเมินนักเรียนของเราจากหน่วยงานภายนอก เช่น O-NET, PISA, TIMSS, IMD เป็นต้น สูตรสำเร็จของพวกเราที่ผ่านมาหากผลการประเมินคุณภาพนักเรียนต่ำ เราก็จะอบรมครู ทั้งที่บางครั้งก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากครูทั้งหมด เมื่ออบรมครูไปแล้วผลการประเมินก็ยังต่ำอีก ก็แสดงว่าเราแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเสียแล้ว สูญเปล่าเป็นอย่างมาก จากผลการสังเคราะห์งานวิจัยที่เกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนมากกว่า ๑,๐๐๐ เรื่อง พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน ได้แก่ ระดับสติปัญญาของผู้เรียน ผลการเรียนเดิมของนักเรียน คุณภาพการสอนของครู การบริหารจัดการ สภาพแวดล้อมที่มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ความคาดหวังและการเอาใจใส่ของผู้ปกครอง หาให้เจอก่อนครับว่านักเรียนของเราที่มีคุณภาพไม่ดีนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งนักเรียนแต่ละคนอาจมีสาเหตุแตกต่างกัน แล้วเราค่อยแก้ไขตามสาเหตุกันดีกว่าครับ
อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การนำหลักสูตรไปใช้ สารฉบับที่แล้ว ผมนำเสนอไปว่า ขณะนี้เป็นช่วงการปรับปรุงหลักสูตร กว่าจะประกาศหลักสูตรใหม่ได้ก็คงเป็นปี และยังได้เรียนไปว่าปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตรในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่ตัวหลักสูตรเท่าไรนัก แต่อยู่ที่การนำหลักสูตรไปใช้มากกว่า บางคนบ่นว่า หลักสูตรกำหนดเนื้อหาแน่นเกินไป บ่นกันไปเรื่อยเปื่อย หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard Based Curriculum) อิงสมรรถนะ/พฤติกรรม ไม่ใช่หลักสูตรอิงเนื้อหา (Content Based Curriculum) เหมือนเดิมแล้ว และเมื่อพิจารณาโครงสร้างเวลาเรียน ป.๑-๖ หลักสูตรที่กำหนดว่า ต้องเรียนไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ชั่วโมง (รายวิชาพื้นฐาน ๘ กลุ่มสาระ ๘๔๐ ชั่วโมง กิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ๑๒๐ ชั่วโมง รายวิชาและกิจกรรมเพิ่มเติม ๔๐ ชั่วโมง) ใน ๑ ปีกำหนดให้เรียน ๔๐ สัปดาห์ ๒๐๐ วัน ๑,๐๐๐ ชัวโมง สรุป ๕ ชั่วโมงต่อวัน โรงเรียนทั่วไปจัดตารางเรียน ๖ ชั่วโมงต่อวัน เมื่อพิจารณารายวิชาพื้นฐาน ก็ประมาณ ๔ ชั่วโมงต่อวัน ดังนั้น โรงเรียนต้องการจะเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษก็สามารถทำได้อย่างน้อยวันละ ๒ ชั่วโมง รวมทั้งหน้าที่พลเมืองที่เพิ่งกำหนดไป ที่ผ่านมาเราคาดหวังสูงไปหน่อย โดยคาดหวังว่าทุกโรงเรียนจะพัฒนาหลักสูตร สื่อ นวัตกรรม รูปแบบการเรียนการสอน มีระบบการวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนาผู้เรียนที่เข้มแข็ง โดยลืมไปว่าโรงเรียนแต่ละแห่งมีความพร้อมต่างกัน ครูของเราจำนวนมากก็ไม่ได้เรียนจบมาตรงกับวิชาที่สอน สิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ดำเนินการเพื่อเป็นตัวช่วยในการยกระดับคุณภาพการศึกษาอยู่ในขณะนี้ก็คือ การศึกษาทางไกล (Distance Learning) โดยจำแนกเป็น DLTV (ถ่ายทอดการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน) DLIT เป็นการพัฒนาแหล่งความรู้ออนไลน์เกี่ยวกับ วิธีสอน สื่อนวัตกรรม เครื่องมือวัดและประเมินผลการเรียนรู้ โดยคาดหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพผู้เรียน คุณภาพครูได้เป็นอย่างดี ซึ่งระบบ DLTV ดำเนินการได้สมบูรณ์แล้ว ส่วน DLIT จะสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ นี้
๓. ด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับส่วนราชการที่ได้รับงบลงทุน (ทีดิน สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์) ปี ๒๕๕๘ ที่ยังไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ วันที่ ๒ มิถุนายนที่ผ่านมา และมีหนังสือเวียน ว.๑๓๗ แจ้งให้ทุกส่วนราชการทราบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติขยายเวลาการก่อหนี้ผู้พันไปจนถึง ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ โดยให้ส่วนราชการรวบรวมรายการงบลงทุนตามรายการเดิม รายการงบลงทุนตามรายการที่ขอเปลี่ยนแปลงใหม่ และรายการขอใช้เงินเหลือจ่ายงบลงทุนที่บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ทั้งเพิ่งจะเหลือจ่าย และเงินเหลือจ่ายตกหล่น (ไม่ได้รายงานรัฐมนตรี) โดยต้องรายงานรัฐมนตรีภายในเดือนมิถุนายน เมื่อผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรี ส่วนราชการจะต้องก่อหนี้ผู้พันให้แล้วเสร็จภายใน ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันจะไมได้รับการอนุมัติให้ขยายเวลาในการก่อหนี้ผู้พันต่อไปอีก ขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนต่างมีข้อมูลดังกล่าวอยู่ในมือแล้ว ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานมีเวลาหาผู้รับจ้างหรือผู้ขายมากขึ้น สำนักคลังและสินทรัพย์ จึงกำหนดให้หน่วยงานนำเสนอข้อมูล ๓ รายการข้างต้นให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทราบภายในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ โดยรายงานข้อมูลผ่านระบบ “รายงาน Online” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มและคู่มือการรายงานจากเว็ปไซต์ http:/finance.obec.go.th มีโอกาสอีกครั้งเดียวครับ ขอส่งข่าวอีกเรื่องหนึ่งครับ เรื่องการปรับปรุงระบบไฟฟ้าของโรงเรียนดีประจำตำบล ที่ผ่านมาได้มีการจัดสรรการปรับปรุงซ่อมแซมระบบไฟฟ้า-ประปาสำหรับโรงเรียนทั่วไป ยกเว้น โรงเรียนดีประจำตำบล (น่าจะจัดไปพร้อมๆกัน ยกเว้นทำไมก็ไม่รู้ อ๋อ งบประมาณคนละแหล่งกันครับ) งบประมาณ มี ๑๖๐ ล้านบาท คงไม่ได้ทุกโรงเรียนหรอกครับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาคงต้องเรียงลำดับความต้องการจำเป็นไปให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบบสำรวจจะมาถึงสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเร็วๆ นี้ครับ
สารฉบับนี้ คงนำเสนอเพียงเท่านี้นะครับ แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้าครับ
ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก
รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน