Advertisement
การพระราชทานตราตั้งห้าง โดย รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ
มีธรรมเนียมอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ข้อหนึ่งที่ไทยเรารับมาจากชาติตะวันตก และได้ใช้เป็นธรรมเนียมแพร่หลายอยู่ในปัจจุบันนี้ คือ ธรรมเนียมการพระราชทานตราตั้งห้าง อันมีความหมายว่า ได้พระราชทานเกียรติยกย่องบริษัทห้างร้านที่ประกอบกิจการค้ากับพระราชสำนักมาเป็นเวลายาวนาน และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไว้วางใจของประชาชน โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราพระครุฑพ่าห์ประกอบกับถ้อยคำว่า “โดยได้รับพระบรมราชานุญาต” เป็นเครื่องหมายเสดงว่า ทรงพระมหากรุณา ธรรมเนียมเช่นนี้เริ่มใช้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าอยู่หัว และยังคงถือปฏิบัติมาตราบจนกระทั่งทุกวันนี้
ตามระเบียบการพระราชทานตราตั้งห้าง ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑๕ พฤษกาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒ กำหนดแนวทางการขอพระราชทานตราตั้งห้างไว้ว่า บุคคลทั้งหลายมีสิทธิที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานตราตั้งห้างของตน ห้างร้านบริษัทที่จะขอพระราชทานตราตั้งได้นั้นต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคล หรือได้จดทะเบียนแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้ทำการติดต่อกับกรมกองต่าง ๆ ในพระราชสำนักมาก่อน และต้องปรากฏว่า มีฐานะการเงินดีเป็นที่เชื่อถือแก่มหาชนทั้งหลายมานานพอสมควรด้วย ไม่มีหนี้สินรุงรัง เว้นแต่หนี้อันเป็นปกติวิสัยธรรมดาเฉพาะกิจการค้าตามประเภท นอกจากนั้นห้างร้านบริษัทที่จะขอพระราชทานตราตั้งได้จะต้องประกอบการค้าใดสุจริต ตั้งอยู่ในศีลธรรม ไม่เคยมีความผิดฐานทุจริต เป็นปฏิปักษ์ต่อความรู้สึกของมหาชน
หนังสือที่ยื่นขอพระราชทานตราตั้ง ให้ยื่นต่อสำนักพระราชวัง และต้องมีรายละเอียดตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการ เช่น ผู้ขอมีหน้าที่ใดในห้างร้านใด แสดงชื่อ นามสกุล และที่อยู่อันเป็นหลักแหล่งของผู้ขอให้ชัดเจน รวมทั้งแสดงความประสงค์ว่า ขอตราตั้งสำหรับกิจการค้าประเภทใดโดยยื่นพร้อมใบสำคัญแสดงฐานะการเงิน และการค้าขายของร้าน เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการวินิจฉัยด้วย
ตราตั้งนั้นจะพระราชทานหรือไม่สุดแล้วแต่จะมีพระราชดำริเห็นสมควร เมื่อผู้ที่ขอรับพระราชทานตราตั้งได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ออกตราตั้งมอบให้แก่ผู้ที่ขอพระราชทาน เครื่องหมายตราตั้งนั้นเป็นรูปพระครุฑพ่าห์ หน้าอัดทรงเชิด และมีคำว่า“โดยได้รับพระบรมราชานุญาต” อยู่ที่เบื้องล่างแห่งดวงตรานั้นด้วย ถ้าเป็นห้างร้านบริษัทในต่างประเทศ จะใช้คำเป็นภาษาอังกฤษว่า “By Appointment to HiS Majesty the King of Thailand” แทนภาษาไทยก็ได้ ห้างร้านหรือบริษัทใดที่ได้รับพระราชทานตราตั้ง จะใช้เครื่องหมายตราตั้งประดับ ณ สถานที่ทำการค้าหรือจะพิมพ์รูปจำลองเครื่องหมายตราตั้งลงในกระดาษของใบเก็บเงิน ใบรับเงิน ฉลากซองพาณิชยบัตร และยานพาหนะขนส่งเฉพาะที่เกี่ยวกับกิจการค้าที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้นก็ได้
ตราตั้งที่พระราชทานนี้ เป็นการพระราชทานเฉพาะบุคคล และสำหรับกิจการค้าประเภทที่ได้รับพระบรมราชานุญาตโดยเฉพาะ จะโอนไปให้บุคคลอื่นไม่ได้ และตราตั้งนี้เป็นอันล้มเลิกตามพระราชอัธยาศัย หรือเมื่อบุคคลที่ได้รับพระราชทานตราตั้งถึงแก่กรรม หรือล้มละลายหรือต้องชำระบัญชีเลิกห้างหุ้นส่วน หรือต้องพระราชอาญาจำคุก หรือกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือพ้นจากหน้าที่ใด ๆ ในห้างร้านบริษัทนั้น หรือเลิกกิจการค้าประเภทที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราตั้งนั้น หรือเมื่อโอนกิจการค้านั้นให้แก่ผู้อื่น ซึ่งถ้าเกิดเหตุประการหนึ่งประการใดดังกล่าวมาแล้วขึ้น ต้องส่งคืนตราตั้งให้แก่สำนักพระราชวังโดยเร็ว และจะใช้เครื่องหมายตราตั้งต่อไปไม่ได้เป็นอันขาด
อนึ่ง เพื่อเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติสำหรับผู้ได้รับพระราชทานตราตั้ง ระเบียบการพระราชทานตราตั้งห้างได้กำหนดข้อปฏิบัติสำหรับบุคคลผู้ได้รับพระราชทานตราตั้งไว้ คือบุคคลผู้ได้รับพระราชทานตราตั้งต้องบำเพ็ญตนให้อยู่ในฐานะอันดี เสมอเหมือนกับเมื่อได้รับพระราชทานตราตั้ง หรือตีขึ้นไปกว่าฐานะเช่นนั้นนอกจากนี้ ห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายตราตั้งเป็นเครื่องหมายการค้าของห้าง ห้ามมิให้ใช้ธงอันมีรูปเครื่องหมายตราตั้ง ห้ามมิให้ใช้คำว่า “หลวง” เช่น “ช่างทองหลวง” เป็นต้น ห้ามมิให้ใช้ตราตั้ง หรือรูปจำลองเครื่องหมายตราตั้งในการอันไม่เกี่ยวกับกิจการค้าขาย ซึ่งได้รับพระราชทานตราตั้งโดยเฉพาะ ห้ามมิให้ประกาศ หรือแจ้งความโฆษณาว่า ตนเป็นผู้ทำการติดต่อกับราชการในพระราชสำนัก และห้ามมิให้ทำรูปจำลอง หรือสำเนาตราตั้งแม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้นโดยมิได้รับอนุญาต
นับตั้งแต่ได้มีธรรมเนียมการพระราชทานตราตั้งเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นต้นมา ได้มีบริษัทห้างร้านจำนวนมากที่ประกอบสัมมาอาชีวะด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ได้รับพระราชทานตราตั้งเป็นเกียรติยศ พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเช่นนี้ ย่อมเป็นเครื่องอุดหนุนอย่างสำคัญให้ผู้ประกอบกิจการค้าเหล่านั้นเกิดกำลังใจ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเจริญให้เกิดแก่กิจการค้าของตนยิ่ง ๆ ขึ้นไป และโดยไม่ละเลยความสุจริตต่อมหาชน ทำให้บังเกิดผลดีแก่ผู้ประกอบการค้าและสังคมโดยส่วนรวม
ที่มา สารานุกรมไทย สำหรับเยาวชน
Advertisement
เปิดอ่าน 16,241 ครั้ง เปิดอ่าน 29,999 ครั้ง เปิดอ่าน 16,745 ครั้ง เปิดอ่าน 64,264 ครั้ง เปิดอ่าน 14,747 ครั้ง เปิดอ่าน 64,915 ครั้ง เปิดอ่าน 33,706 ครั้ง เปิดอ่าน 17,696 ครั้ง เปิดอ่าน 22,408 ครั้ง เปิดอ่าน 15,001 ครั้ง เปิดอ่าน 17,556 ครั้ง เปิดอ่าน 35,363 ครั้ง เปิดอ่าน 18,718 ครั้ง เปิดอ่าน 14,218 ครั้ง เปิดอ่าน 20,083 ครั้ง เปิดอ่าน 107,989 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 3,710 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 200,831 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 17,626 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 54,324 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 30,143 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 18,163 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 20,393 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 33,317 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,755 ครั้ง |
เปิดอ่าน 8,440 ครั้ง |
เปิดอ่าน 29,301 ครั้ง |
เปิดอ่าน 90,725 ครั้ง |
|
|