ข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน 2558 ได้นำเสนอข่าว บริษัท ทิพยประกันภัย ชี้แจงการรับทำประกันกลุ่มครู ตามโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. ย้ำสมาชิกโปร่งใส-ยุติธรรม ย้ำเป็นไปตามความสมัครใจ
เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจาก นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย ว่ากรณีที่สมาชิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนสมาชิกครู (ช.พ.ค.) ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ให้ตรวจสอบโครงการปล่อยกู้ของธนาคารออมสิน และบมจ.ทิพยประกันภัย ซึ่งเป็นผู้รับประกันสินเชื่อครู นั้น ยืนยันว่า บมจ.ทิพยฯ ได้เข้าไปรับทำประกันกลุ่มครู ตามโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. เมื่อ 5 ปีก่อนภายใต้ชื่อกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุสุขภาพสินเชื่อปลอดภัยทั้งนี้สาเหตุที่ผู้กู้เงินต้องมีหลักประกันนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาการกู้เงินของธนาคาร ต้องมีการรวมกลุ่มย่อย เพื่อค้ำประกันซึ่งกันและกัน หากผู้กู้รายใดเสียชีวิตและผู้ค้ำประกันไม่ต้องการรับภาระหนี้สินระหว่างกันในกลุ่มย่อย จึงทำให้ต้องมีระบบประกันภัยเข้ามารองรับ เพื่อไม่เป็นภาระของผู้ค้ำประกันและทายาท หากผู้กู้เสียชีวิต
นายสมพรยังกล่าวต่อว่า การทำประกัน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้กู้ รวมทั้งยังทำให้ได้รับอนุมัติวงเงินกู้ที่สูงขึ้นและง่ายขึ้น รวมทั้งการทำประกันสินเชื่อ ยังเป็นไปตามความสมัครใจของผู้กู้และเป็นไปตามเงื่อนไขการกู้เงิน ที่ระบุไว้ในแบบคำขอกู้จากธนาคาร โดยผู้กู้สามารถเลือกที่จะทำประกันหรือไม่ทำประกันก็ได้ และสามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ แต่ทายาทและผู้ค้ำประกัน อาจต้องเข้ามารับผิดชอบภายหลัง ขณะเดียวกันเนื่องจากเป็นการประกันกลุ่ม ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่เก็บกรมธรรม์จึงต้องเป็นเจ้าหนี้คือธนาคารออมสิน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคคลากรทางการศึกษา ในฐานะที่ดูแลช.พ.ค. โดยผู้กู้เงิน จะออกเป็นใบสรุปเงื่อนไขความคุ้มครองให้
ทั้งนี้หากผู้กู้ต้องการได้กรมธรรม์ฉบับจริงก็ให้แจ้งบริษัทฯ เพื่อพิจารณา แต่กรณีการประกันกลุ่มนั้น จะไม่ออกกรมธรรม์จริงให้ลูกค้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้กู้เงินยังสามารถยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย สามารถทำได้เช่นกัน แต่เนื่องจากกรมธรรม์เป็นการประกันภัย เพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อที่ผู้เอาประกันเป็นผู้กู้เงิน โดยระบุให้ธนาคารออมสินเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์เป็นลำดับแรก เพื่อวัตถุประสงค์ลดภาระของทายาทของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน การยกเลิกอาจทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนในภายหลังและเงื่อนไขการกู้อาจเปลี่ยนแปลงไป
"กรมธรรม์ของบริษัทมีข้อดีและจุดเด่น ต่างจากบริษัทประกันชีวิตทั่วไป และหากผู้กู้เสียชีวิตในกรณีที่กำหนดไว้ บริษัทจะเป็นผู้ชำระหนี้กับธนาคารออมสินทั้งหมด และถ้ามีเงินเหลือ ธนาคารออมสินจะส่งคืนทายาทต่อไป โดยที่ผ่านมาได้จ่ายค่าสินไหมให้ผู้ที่ทำประกันไว้เกือบ 7,000 ราย คิดเป็นค่าสินไหม 6,500 ล้านบาท จากเบี้ยที่รับมาประมาณ 10,000 ล้านบาท" นายสมพรกล่าว
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 มิถุนายน 2558