การประเมินจากภายนอกสถานศึกษาจำเป็นหรือไม่?
ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา
ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งต้องได้รับการประเมินจากหน่วยงานภายนอกทุก ๕ ปี จึงทำให้เกิด สำนักงานประเมินและรับรองมาตรฐานการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ขึ้น โดยทำการประเมินรอบที่ ๑ รอบที่ ๒ และรอบที่ ๓ ผ่านไปเกือบทุกสถานศึกษาแล้ว
ทั้งนี้ โดยใช้มาตรฐานและตัวชี้วัดเป็นเกณฑ์การประเมิน มีระเบียบวิธีการประเมินจากสถานที่จริงโดยใช้นักประเมินที่ได้รับการอบรม และมีประสบการณ์ด้านการศึกษามาเป็นอย่างดี จุดมุ่งหมายสูงสุดในการประเมินแต่ครั้งอยู่ที่การนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
กว่าทศวรรษที่ผ่านมา วัฒนธรรมการประเมินจากหน่วยงานภายนอกได้ซึมซับลงสู่สถานศึกษาไม่น้อย เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของแต่ละสถานศึกษา
ผู้เรียนได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้ได้รับรางวัลระดับต่างๆ มากขึ้น ครูกระตือรือร้นปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน แสวงหาความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพมากขึ้น โรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและสาระสำคัญในการทำงาน
ทั้งหมดนี้ ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เป็นผลมาจากการประเมินจาก สมศ.
แต่สิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนวัฒนธรรมการประเมินของ สมศ. คือคุณภาพของผู้เรียน หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน บทบาทของ สมศ. ไม่สามารถกระตุ้นสถานศึกษาให้พัฒนาผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายตามหลักสูตร
เพราะครูเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทำตามมาตรฐานข้ออื่นๆ จำนวน ๑๑ ข้อมากเกินไป ส่วนอีก ๑ ข้อ คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจึงปล่อยปละละเลย (มาตรฐานทั้งหมดมี ๑๒ ข้อ)
ถามว่า หัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาอยู่ที่ใด เหตุผลหลักในการจัดตั้งโรงเรียนหรือสถานศึกษาเพื่อใคร และผู้ปกครองฝากลูกหลานไว้กับสถานศึกษาด้วยความหวังสูงสุดในเรื่องใด ในแต่ละวันที่ผู้เรียนใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนนั้น เขาได้อะไรบ้าง
๑ ปี เขามาเรียน ๒๐๐ วัน ไม่เคยขาดเรียน มาโรงเรียนแต่เช้า ๗ โมงเช้า ๔ หรือ ๕ โมงเย็นค่อยกลับบ้าน บางรายต้องเรียนพิเศษตามความต้องการของพ่อแม่อีก จนถึง ๒ ทุ่ม ความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้เรียนเหล่านี้ สมศ. มองเห็นเป็นอะไร ตีค่าผู้เรียนอย่างไร
ในเมื่อคุณภาพผู้เรียน มิได้เป็นผลโดยตรงมาจากการประเมินของ สมศ. จึงเกิดกระแสการต่อต้านการประเมินอย่างต่อเนื่องยาวนาน
แม้ในใจจะรู้สึกต่อต้าน แต่ครูและบุคลากรในสถานศึกษาก็ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะเป็นกฎหมายที่บรรดานักการเมืองเห็นชอบแล้วในสภาผู้แทนราษฎรตามกระบวนการประชาธิปไตย (นักการเมืองคาดหวังอะไรจากกฎหมายฉบับนี้)
ณ วันนี้ มีความเคลื่อนไหวในทำนองว่า จะเปลี่ยนวิธีการประเมิน เปลี่ยนมาตรฐานและตัวชี้วัดในการประเมิน จึงถามว่า ทำไปทำไม มีความจำเป็นแค่ไหน ทำเพื่ออะไร เด็กนักเรียนจะได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างไรบ้าง
ในเมื่อหัวใจของการจัดการศึกษาอยู่ที่ผู้เรียน การจะดูแลบำรุงรักษาหัวใจให้แข็งแรง สามารถเป็นกำลังสำคัญของสังคมและประเทศชาติได้ จำเป็นต้องได้รับอาหารสมองที่ดีโดยผู้ปรุงอาหารที่เหมาะสม ก็ปรากฏชัดแล้วว่า ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา สมศ. เป็นผู้ประกอบอาหารที่ใช้ไม่ได้ แล้วจำเป็นต้องมีการประเมินรอบที่ ๔ ไปทำไม
ที่มา: หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ วันที่ 5 - 11 มิ.ย. 2558