ครูอีสานเสนอความเห็นปฏิรูปการศึกษา
ครูอีสานระดมความเห็นปฏิรูปการศึกษารายจังหวัด ทะยอยเสนอนายกฯผ่านศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัด ประกาศชัดเจนไม่ถ่ายโอนไปองค์กรบริหารท้องถิ่น พร้อมชี้บรรจุ 130 ครูผู้ช่วย สพฐ.ขัดกฎหมาย
วันนี้ (4มิ.ย.) นายประวิทย์ บึงไสย ประธานชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากขณะนี้กำลังมีการเปิดรับความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป ซึ่งจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาทางชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ประสานขอให้สมาคมสมาพันธ์ครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด ได้จัดระดมความเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษาภายในจังหวัด เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์ดำรงธรรมของแต่ละจังหวัด ซึ่งขณะนี้มีหลายจังหวัดที่ได้นำเสนอความเห็นไปแล้ว
นายประวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสมาคมสมาพันธ์ครูอุดรธานี ซึ่งตนสังกัดอยู่ก็ได้นำเสนอประเด็นหลัก ๆ 3 ประเด็น คือ
1.ไม่เห็นด้วยกับ ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 286 (1) ได้มีการระบุถึงการกระจายอำนาจการจัดการศึกษา โดยลดบทบาทของรัฐ จากการเป็นผู้จัดการศึกษาเป็นผู้ให้มีการศึกษา ส่งเสริม สนับสนุนรวมทั้งกำกับนโยบาย แผน มาตรฐาน และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษา และส่งเสริมให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษา ทั้งนี้ โดยให้เอกชน ชุมชนและองค์กรบริหารท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสม
ประเด็นที่ 2.ไม่เห็นด้วยหากจะมีการแก้ไขกฎหมายการศึกษา 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาพ.ศ.2546 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาพ.ศ.2547 ในเวลานี้ ควรรอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรก่อน เพราะกฎหมายที่มีอยู่ดีและเหมาะสมอยู่แล้วเพียงแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้องครบถ้วนตามเจตนารมณ์ จึงทำให้เกิดปัญหา
“ประเด็นที่ 3 กรณีการบรรจุครูผู้ช่วยที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จำนวน130 คน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 30 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ ที่กำหนดคุณสมบัติผู้ประกอบวิชาชีพครูฯต้องเป็นไปตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.สภาครูฯและมาตรา 43(8)จะยกเว้นว่าเป็นบุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนดไม่ได้ และยังขัดมาตรา 46 ห้ามมิให้สถานศึกษารับผู้ไม่ได้รับใบอนุญาตเข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษา ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย จึงได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีได้ตรวจสอบความถูกต้องด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับในส่วนของสมาคมสมาพันธ์ครูอุดรธานีนี้นอกจากนำเสนอต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดอุดรธานีแล้ว ยังได้เสนอต่อสำนักงานยุติธรรมจังหวัดอุดรธานี และคณะทำงาน สปช.ประจำจังหวัดอุดรธานีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการบรรจุครูผู้ช่วยนี้ ทางยุติธรรมจังหวัดได้ให้ความเห็นว่าน่าจะผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อไป”นายประวิทย์ กล่าว
อ่านต่อที่ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 มิถุนายน 2558