วอนมาตรา 44 ยกเลิก!! "ค่าบำรุงการศึกษา"
กมลทิพย์ ใบเงิน รายงาน
หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่มีใครอยากมี "ข้อขัดแย้ง" กับโรงเรียน เพราะนั่นหมายถึง "ความเดือดร้อน" อาจจะตกถึงลูกหลานที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนแห่งนั้นได้ แต่ช่วงสัปดาห์นี้ ปรากฏว่า ผู้ปกครองและนักเรียนออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อโรงเรียนหลายแห่ง ด้วยลูกหลานสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) แล้วกลับไม่ได้ใบรับรองวุฒิการศึกษา ทำให้พลาดโอกาสเรียนต่อในระดับชั้น ม.4 เพียงเพราะไม่ชำระเงินค่าบำรุงการศึกษา จำนวน 5,200 บาท บางคนวงเงิน 1.7 หมื่นบาท
ดูเหมือนว่า ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) ที่มี "น.อ.บัญชาก รัตนาภรณ์" ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบการทุจริตกรณีเรียกรับผลประโยชน์ในการรับนักเรียนโดยไม่เป็นธรรมของ ภตช. เดินเกมรุกเปิดช่องให้พ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนได้มีที่พึ่ง ด้วยการออกรับและอาสาเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อให้เด็กได้มีที่เรียน
ว่ากันว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศการทำผิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ทั้งกรณี มาตรา 10 ระบุให้เรีนฟรี 12 ปี (ป.1-ม.6) แต่โรงเรียนมาเรียกเก็บ "ค่าบำรุงการศึกษา" โดยอ้างจากประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เขตพื้นที่การศึกษา และกรรมการสถานศึกษาบ้างละ
เฉพาะปีการศึกษา 2558 จากการตรวจสอบแบบเข้มข้นของ "คณะทำงานตรวจสอบการทุจริตกรณีเรียกรับผลประโยชน์ในการรับนักเรียนโดยไม่เป็นธรรมของภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.)" พบว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ.มีการจัดเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษาจากพ่อแม่ผู้ปกครองคลอบคลุมการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ระดับชั้น ป.1-ม.6 จำวน 14 ล้านคน พบว่าเป็นจำนวนเงินกว่า 3 หมื่นบาท เมื่อรวมเวลาโรงเรียนจัดเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษามา 12 ปี รวมเป็นเงิน 3.3 แสนล้านบาท
ไม่เพียงเท่านั้น จากการตรวจสอบของ "คณะทำงานตรวจสอบการทุจริตกรณีเรียกรับผลประโยชน์ในการรับนักเรียนโดยไม่เป็นธรรมของภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตอคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.)" ยังพบว่า มีการนำใบเสร็จที่จ่ายเงิน "ค่าบำรุงการศึกษา" ไปเบิกคืนจากราชการ เป็นเงินตกปีละกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้ราชการเกิดความเสียหาย
ว่ากันว่า มีการใช้ สมาคมผู้ปกครองและครู เป็นแหล่งเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่งอาจเป็นแหล่งฟอกเงิน บางแห่งเป็นสมาคมเถื่อน ตลอดจนกรณีโรงเรียนออกใบแจ้งหนี้ นักเรียนระดับมัธยมศึกษา (ม.3 และ ม.6 ) ที่ไม่ชำระค่าเรียน และไม่ให้จบการศึกษาระดับชั้น ม.3 และ ม.6 เพราะไม่ยอมจ่ายค่าเทอมหรือค่าบำรุงการศึกษา นับเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
เหนืออื่นใด โรงเรียนไม่สามารถจัดเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษาจากผู้ปกครองได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ เนื่องจากไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถือเป็นการฉ้อโกงนักเรียนและผู้ปกครอง อีกทั้งกรณีแต่ละโรงเรียนได้กำหนดเกรดของเด็กที่จะเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย (ม.4) ต้องได้เกรดเฉลี่ย 2 ถึงจะสามารถเข้าเรียนต่อชั้นม.4 ได้นั้น เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เป็นการลิดรอนสิทธิเด็กและเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ของผู้บริหาร
"ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการไม่รู้หรือว่าการจัดเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษานั้นผิดกฎหมาย"??? คำถามที่รอคำอธิบายจากผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ มาเป็นเวลานานแรมปี ด้วย เครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติได้ยื่นข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิกการจัดเก็บเงินค่าบำรุงการศึกษา ต่อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กองทัพบก และเรื่องถูกส่งต่อมาถึง "ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน" ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น เป็นคนรับเรื่องเอาไว้ และได้ส่งต่อถึงมือ "ดร.กมล รอดคล้าย" เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะที่กำกับดูแลโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ แต่จนถึงวันนี้ 1 ปี ทุกอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไข
หาก "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นห่วงอนาคตลูกหลานไทยจริงๆ ขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 สั่งยกเลิกการจัดเก็บเงิน "ค่าบำรุงการศึกษา" หยุดทำร้าย!! ลูกหลานไทย 14 ล้านคน ขอให้คืนความสุขให้พ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียน
ที่มา คมชัดลึก ฉบับวันที่ 3 มิ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)