สพฐ.ทำ 6 แผนปฏิรูปการศึกษา 58-63 ระยะเร่งด่วนภายใน 1 ปี อบรมครูทั่วประเทศ จัดการเรียนการสอนตามทักษะเด็ก พัฒนาภาษาอังกฤษ เตรียมขอความร่วมมือเอกชนแยกแบบฝึกหัดออกจากแบบเรียนตามคำแนะนำนายกฯ
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เดินหน้าจัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2558-2563 โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะด้วยกัน ซึ่งระยะแรกเป็นระยะเร่งด่วนที่จะพยายามดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ได้แก่
1.การอ่านออกเขียนได้ของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ตอนนี้ สพฐ.ได้ดำเนินการผลิตสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนต่างๆ รวมถึงการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ ต่อจากนี้จะมีการอบรมการสอนในรูปแบบ Brain Based Learning (BBL) ให้กับครูทั่วประเทศ และเมื่อจบภาคเรียนจะมีการประเมินผล โดยทางสถาบันภาษาไทย และสถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) เป็นผู้ออกแบบประเมิน
2.การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้ค้นหาตัวเอง โดยเฉพาะการจัดสอนทักษะอาชีพในโรงเรียนขยายโอกาส และการจัดสอนทักษะอาชีพแบบเต็มระบบ ในโรงเรียนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด
3.การพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษระดับการศึก ษาขั้นพื้นฐาน เช่น จัดระบบเทียบระดับ จัดทำความร่วมมือกับประเทศอังกฤษ และบริติช เคาน ซิล
4.การผลิตและพัฒนาครู จัดอบรมพัฒนาผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์ ด้วยทักษะ
5.ยกระดับการศึกษา ทางไกล และ
6.การพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียน และในระยะยาว ได้แก่ การปฏิรูปการเรียนการสอน ปฏิรูปการพัฒนาวิชาชีพ และการปฏิรูประบบบริหารจัดการ
นายกมลกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แยกแบบเรียนในส่วนเนื้อและแบบฝึกหัดออกจากกัน เพราะอยากให้เด็กทำแบบฝึกหัดขีดเขียนได้อย่างเต็มที่ เรื่องนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปหลักสูตรตำราเรียนตามยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานเช่นกัน สพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และเห็นด้วยกับแนวคิดของนายกฯ โดยเบื้องต้นตนได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีหลายหน่วยงานที่พิมพ์แบบเรียนจัดจำหน่าย แต่ในส่วนแบบเรียนในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่ สพฐ.จ้างองค์การค้าฯ พิมพ์นั้น จะไม่มีแบบฝึกหัดรวมอยู่กับเนื้อหาในเล่ม ดังนั้นยืนยันว่าแบบเรียนของ สพฐ.ส่วนใหญ่ได้แยกแบบฝึกหัดกับเนื้อหาออกอย่างละเล่มอยู่แล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะมาจากการจัดพิมพ์แบบเรียนของสำนักพิมพ์เอกชน ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมหารือถึงเรื่องการพิมพ์แบบเรียน โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมสำนักพิมพ์เอกชนมาร่วมพูดคุยทำความเข้าใจ รวมถึงสำรวจแบบเรียนว่ามีวิชาใดบ้างที่มีแบบฝึกหัดปนอยู่กับเนื้อหาบ้าง หากมีแบบเรียนเล่มใดที่มีแบบฝึกหัดรวมอยู่กับเนื้อหาด้วย ก็จะขอความร่วมมือให้แยกออกจากกัน โดยพิมพ์เป็นหนังเรียนที่มีเฉพาะเนื้อหา และแบบเรียนเฉพาะทำแบบฝึกหัด และเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ปก ครอง จะต้องมีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับการแยกพิมพ์แบบเรียนจะต้องคุมราคาไม่ให้สูงกว่าเดิม เช่น หนังสือเรียนที่เป็นแบบฝึกหัดอาจใช้กระดาษราคาถูก เป็นต้น.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์