นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังเร่งจัดทำคลังข้อสอบ ที่สามารถใช้ได้ทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ สำหรับให้โรงเรียนและครูได้ใช้ข้อสอบเพื่อสอน ตั้งแต่ต้นเทอม กลางเทอม และปลายเทอม โดยมีข้อสอบมาตรฐานทุกวิชา ครอบ คลุมหลักสูตรทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และทุกชั้นปี ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมกว่า 50,000 ข้อ ซึ่งจะเริ่มเปิดระบบให้ครูเข้าไปใช้ข้อสอบได้ในวันที่ 11 มิถุนายนนี้
"จากนี้การประเมินเด็กจะเน้นเรื่องการทดสอบระหว่างทาง คือ การสอบเพื่อสอน ครูสามารถนำข้อสอบมาตรฐานในคลังข้อสอบไปใช้ทดสอบเด็กได้ทุกเดือน เมื่อรู้ว่าเด็กเรียนอ่อนตรงไหนก็สอนซ่อมเสริมให้ได้เลย ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนวิธีการสอบของประเทศครั้งใหญ่ และจะช่วยลดปัญหาการกวดวิชาลงด้วย เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ทำการประเมินเด็กโดยใช้ข้อสอบมาตรฐานระหว่างทาง เมื่อสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)มาจัดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต ครั้งเดียวในปลายปี และพบว่าเกิดปัญหาก็ต้องไปแก้ไขในปีการศึกษาหน้า ซึ่งเด็ก ก็เปลี่ยนคนเปลี่ยนกลุ่มไปแล้ว ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้" รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ สทศ.ปรับลดการสอบโอเน็ต จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือ 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ภาษาอังกฤษ, ภาษาไทย และสังคมศึกษา ส่วนที่เหลือ 3 กลุ่มสาระ ได้แก่ สุขศึกษา, พลศึกษา ศิลปะ, การงานอาชีพและเทคโนโลยี ให้โรงเรียนเป็นผู้ออกข้อสอบและจัดสอบเอง โดยเริ่มปีการศึกษา 2558 ซึ่งจะสอบช่วงต้นปี 2559 ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องมาตรฐานข้อสอบของโรงเรียน นั้น ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเมื่อเรามีคลังข้อสอบที่บรรจุข้อสอบมาตรฐานอยู่แล้ว ก็สามารถนำข้อสอบมาหาค่าทางสถิติความยากง่ายและใช้เป็นข้อสอบมาตรฐานทดสอบเด็กได้เช่นเดียวกับที่ สทศ.ทำ เพราะข้อสอบของ สทศ.ก็เชิญครูจาก สพฐ.ไปออกข้อสอบให้เช่นเดียวกัน.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 มิ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)