คอลัมน์ EDUCATION IDEA โดย ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์
ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้ปกครองทั้งหลายคงสงสัยว่าทำไมการศึกษาไทยถึงไม่สอนหนังสือให้เด็กเรียนได้ดี ๆ เก่ง ๆ แบบที่โรงเรียน Inter บ้างก็ว่าเงินเดือนต่างกัน การลงทุนต่างกัน นั่นก็ส่วนหนึ่ง ซึ่งครึ่งหนึ่งผมเคยมีความคิดแบบนั้น
จนเมื่อสัปดาห์ผ่านมาผมมีโอกาสร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำ (ร่าง) นโยบายการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อร่างนโยบายเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ จึงได้ข้อมูลที่น่าสนใจที่จะมาเล่าให้ฟังกัน
ข้อสังเกตที่ 1 คือ ระบบงานแบบแยกส่วน ระบบราชการไทยเป็นการแบ่งส่วนในรูปแบบองค์กรที่เรียกว่า Department Organization แต่ละหน่วยงานย่อยจะ Focus แต่หน้าที่ของตัวเอง ดังนั้น นโยบายที่ไปประชุมมาจึงเกี่ยวข้องกับแค่ "การบริหาร" และ "การพัฒนา" ครู และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการผลิตครูจากมหาวิทยาลัย
ข้อสังเกตที่ 2 คือ งอกหน่วยงาน
สืบจากข้อสังเกตที่ 1 พอ "บูรณาการ" ไม่ได้ ระบบราชการไทยก็จะก่อตั้งหน่วยงานใหม่ ๆ ซึ่งมาเชื่อมประสาน เป็นตัวกลางนั่นนู่นนี่ นานวันเข้ารอยเชื่อมปะผุของหน่วยงานที่งอกขึ้นมาก็หนาเตอะอย่างที่เห็น ซ้ำร้ายเราไม่มีแนวคิดเรื่องการ "ยุบ" ใด ๆ คล้าย ๆ กับเรามีแผล พยายามรักษา เอาไปเอามางอกเป็นมะเร็งจนกินงบประมาณทางการศึกษาอย่างมหาศาล
ข้อสังเกตที่ 3 นโยบายพระคุณ โดยรวมนโยบายที่เน้นการกระตุ้นมากกว่านโยบายที่เอาผิด ส่วนหนึ่งในโต๊ะของคนออกนโยบายไม่อยากโดนกระแสต่อต้าน กอปรกับนโยบายในเชิงบทลงโทษง่ายต่อการผันไปเป็นเครื่องมือของการใช้อำนาจในทางมิชอบ หลุดไปสู่การบริหารงานที่ไม่โปร่งใสได้อีก ซึ่งพอเป็นแบบนี้ก็ยากเพราะทำให้ระบบการศึกษาไม่สามารถแสดงความรับผิดชอบ (Accountability) กับผลลัพธ์ในการทำงานจริง ๆ ได้สักที ผลคือหาหลักฐานการยืนยันตรวจเอกสารก็ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไปซะส่วนใหญ่
ข้อสังเกตสุดท้าย คือ ใช้นโยบายไม่ตรงกับเป้าหมาย โดยหลักการแล้วเมื่อหน่วยเหนือมอบนโยบายออกไป แต่ละหน่วยงานจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติราชการตามรูปแบบ โดยเชื่อมนโยบายกับการปฏิบัติให้เห็นสิ่งเดียวกัน ซึ่งการตีความนี้ล่ะที่คลาดเคลื่อนกันบ่อย ทั้งไม่เจตนาหรือจะศรีธนญชัยก็สุดแล้วแต่ ทำให้อะไร ๆ ที่คิดไว้อย่างระมัดระวังไม่ได้ออกดอกผลอย่างที่แก่นแท้ ๆ ต้องการ
คนเขียนนโยบายจึงทำได้อย่างเก่งแค่ Process กับ Output ในเชิงปริมาณหยาบ ๆ เท่านั้น แต่ไม่สามารถเขียนนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ลงถึงบอก Outcome ในเชิงคุณภาพ ซึ่งนั่นคือการเรียนรู้ที่ดีของเด็กได้อย่างที่เราอยากเห็นสักที
ที่เล่าให้ฟังเพราะอยากให้เกิดความเข้าใจในข้อจำกัดหลาย ๆ ประการที่คนนอกอาจจะไม่ทราบ เพื่อที่จะนำไปสู่การคิดอ่านหาทางเพื่อสร้างทางเลือกที่ดีกว่าให้กับการศึกษาต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 2 มิถุนายน 2558