สพฐ.รับลูก"บิ๊กตู่"แยกแบบฝึกหัดจากตำรา
"กมล"รับลูกนายกฯ นัดสำนักพิมพ์เอกชน หารือแยกแบบฝึกหัดออกจากหนังสือเรียน ย้ำ ต้องคุมราคาไม่ให้เป็นการผลักภาระให้ผู้ปกครอง
วันนี้ (2 มิ.ย.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงยุทธศาสตร์การปฎิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน (พ.ศ.2558-2563) ซึ่งมียุทธศาสตร์เร่งด่วนที่จะต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม2558 – มีนาคม 2559 คือ การออกเขียนได้ในวิชาภาษาไทยตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 โดยการสอนแจกลูกสะกดคำ จัดทำสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอน ,การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามทักษะอาชีพ โดยเฉพาะการจัดสอนทักษะอาชีพในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และการจัดสอนทักษะอาชีพแบบเต็มระบบของโรงเรียนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด, การพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษระดับการศึกษาขั้นพื้น ฐาน,การผลิตและพัฒนาครู, การยกระดับการศึกษาทางไกล และ การพัฒนาคุณลักษณะผู้เรียน นอกจากนี้จะต้องปฎิรูปการเรียนการสอน ปฎิรูปการพัฒนาวิชาชีพ และการปฎิรูประบบบริหารจัดการ
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แยกแบบเรียนในส่วนที่เป็นเนื้อหากับแบบฝึกหัดออกจากกัน เพื่อให้เด็กทำแบบฝึกหัดขีด เขียน ได้อย่างเต็มที่นั้น เรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการปฎิรูปหลักสูตรตำราเรียนตามยุทธศาสตร์ปฎิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่ง สพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจและเห็นด้วยกับแนวคิดของนายกฯ โดยเบื้องต้นตนได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีหลายหน่วยงานที่พิมพ์แบบเรียนจัดจำหน่าย แต่ในส่วนแบบเรียนในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่ สพฐ.จ้างองค์การค้า ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)พิมพ์ นั้น ไม่มีแบบฝึกหัดรวมอยู่กับเนื้อหาในเล่ม ดังนั้น ยืนยันว่าแบบเรียนของ สพฐ.ส่วนใหญ่ได้แยกแบบฝึกหัดกับเนื้อหาออกอย่างละเล่มอยู่แล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะมาจากการจัดพิมพ์แบบเรียนของสำนักพิมพ์เอกชน ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมหารือถึงเรื่องการพิมพ์แบบเรียน โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสำนักพิมพ์เอกชนมาร่วมพูดคุยทำความเข้าใจ รวมถึงสำรวจแบบเรียนว่ามีวิชาใดที่มีแบบฝึกหัดปนอยู่กับเนื้อหาบ้าง หากมีก็จะสั่งให้แยกออกจากกัน โดยให้จัดพิมพ์เป็นหนังเรียนที่มีเฉพาะเนื้อหา และแบบเรียนเฉพาะทำแบบฝึกหัด
ต่อข้อถามว่า หากแยกแบบเรียนออกเป็นสองส่วน จะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ปกครองหรือไม่ ดร.กมล กล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องมีการหารือในรายละเอียดด้วย เพราะเมื่อแยกพิมพ์แบบเรียนจะต้องคุมราคาไม่ให้สูงกว่าเดิม เช่น หนังสือเรียนที่เป็นแบบฝึกหัดอาจใช้กระดาษราคาถูก เป็นต้น ซึ่งจะต้องหาวิธีการคุมราคาแบบเรียนเพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระให้แก่ผู้ปกครอง“
อ่านต่อที่ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 มิถุนายน 2558