คกก.อนุกรรมการปฏิรูปการศึกษาด้านกฎหมาย เตรียมยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ โละ พ.ร.บ.ฉบับปี 42 ทิ้ง ชี้เนื้อหาของใหม่เน้นตัวเด็ก ให้อิสระโรงเรียน และตอกย้ำการศึกษาเป็นของคนทั้งประเทศ ส่วน ศธ.มีหน้าที่กำกับการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามนโยบาย
นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาด้านกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ขณะนี้คณะอนุฯ ด้านกฎหมายกำลังดำเนินการยกเลิก พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.2542 และดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.... ขึ้นมาใหม่ โดยจะลงรายละเอียดให้การศึกษาเป็นของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะ ศธ. เพื่อปูทางให้ผู้ที่มีศักยภาพความพร้อมเข้าร่วมในการจัดการศึกษา และ ศธ.ทำหน้าที่เพียงกำกับการจัดการศึกษาของทั้งประเทศให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน และยังลงรายละเอียดไปยังตัวเด็ก อาทิ เรื่องการกระจายเงินรายหัว ให้ติดตามตัวเด็กเพื่อลดปัญหาการเบิกจ่ายเงินรายหัวซ้อนเมื่อเด็กย้ายสังกัด และจะเสริมศักยภาพโรงเรียนให้มีความเป็นนิติบุคคล สามารถบริหารจัดการได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังจะปลดล็อกให้โรงเรียนสามารถบริหารงานบุคคลได้เอง และมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้าย ก.พ. ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานกลางให้แต่ละโรงเรียนนำไปใช้ด้วย
"ในอดีตเราไปนึกถึงแต่เรื่องการปรับโครงสร้าง ศธ. และ ศธ.ก็ทำหน้าที่เป็นเจ้าของโรงเรียน บริหารจัดการในทุกๆ ด้าน ทำให้การปฏิรูปในครั้งก่อนติดบ่วง โรงเรียนไม่ความเป็นอิสระ ซึ่งหากมีความเป็นอิสระของตัวเองก็จะสามารถตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ได้ อาทิ โรงเรียนขนาดเล็กบริเวณใกล้ๆ กันอาจจะร่วมกันจัดการศึกษาในลักษณะวิทยาเขต แบ่งกันจัดการศึกษาในแต่ละช่วงชั้น เป็นต้น แต่เนื่องจากโรงเรียนไม่มีความอิสระ ทำให้การดำเนินการต่างๆ จำเป็นต้องผ่าน ศธ.เป็นหลัก" ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปฯ ด้านกฎหมายกล่าว
นายวิริยะกล่าวต่อว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.มีโครงใหญ่อยู่แล้ว ต่อจากนี้จะมีทีมที่เข้าศึกษาและลงรายละเอียด เมื่อแล้วเสร็จจะเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ข้อเสนอแนะและทำประชาพิจารณ์ จากนั้นนำเข้าคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาฯ และให้ ศธ.เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อนุมัติต่อไป.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์