ศ.ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ฐานะกรรมการในคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอก กล่าวถึงการปรับรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษารอบสี่ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ที่ปรับจากการลงพื้นที่ประเมินสถานศึกษาทุกแห่งไปเป็นการประเมินแบบออนไลน์ว่า การประเมินรูปแบบ ใหม่นั้น ครูไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม เพราะเป็นสิ่งที่เขาต้องส่งอยู่แล้ว เป็นงานตามหน้าที่ที่โรงเรียนต้องรายงานประจำปีตามปกติ เพียงแต่อาจต้องนำข้อมูลมาปรับเพิ่มอะไรบ้าง แต่ไม่ต้องเก็บกระดาษกองโต ไม่ต้องคอยต้อนรับผู้ประเมิน ไม่ต้องพาไปจัดเลี้ยง ไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น ซึ่งจะช่วยลดภาระ ไม่ใช่เพิ่มภาระและจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพราะที่ผ่านมามีโรงเรียนถึงร้อยละ 30 ที่ตกแล้วตกอีกก็ต้องเอาเครื่องมือของ สมศ.เป็นตัวชี้เป้าว่า จะไปพัฒนาเขาอย่างไร เพราะฉะนั้นจะต้องคิดวิธีนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ให้ได้จริง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก
"เมื่อมีการปรับรูปแบบ ทำให้หลายคนอาจมี คำถามถึงอนาคตของ สมศ. ก็ต้องตอบว่า สมศ.จะมีงานประเมินที่หลากหลายขึ้น ทั้งการประเมินมาตรฐานอาเซียน มาตรฐานนานาชาติ เป็นงานอีกระดับหนึ่งที่สูงขึ้น ต่อไป สมศ.จะเป็นองค์กรขนาดเล็กที่มี คุณภาพสูง ซึ่งภาพลักษณ์จะดีกว่าที่เป็นอยู่มาก" ศ.ดร.อมรวิชช์ กล่าว
ต่อข้อถามว่า การประเมินออนไลน์จะมีคุณภาพได้อย่างไร ศ.ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับการเห็นภาพจริงหรือไม่ ถึงแม้จะเห็นสภาพจริงแต่ก็เป็นภาพเดิม ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือนำผลการประเมินไปพัฒนา เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปก็ได้ ถึงไปก็อยู่แต่ในห้องประชุม นั่งดูกระดาษ ผลก็เหมือนเดิม แต่เรื่องการลงพื้นที่ก็ไม่ได้ตัดทิ้งทั้งหมด ยังมีการไปสุ่มดู ซึ่งต่อไปในอนาคตเจ้าหน้าที่ สมศ.จะเป็นนักวิชาการที่ลงพื้นที่มากขึ้นแล้วรวบรวมข้อมูลมานำเสนอรัฐบาล.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 มิ.ย. 2558 (กรอบบ่าย)