ผลประชุมผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2558 ซึ่งมีการหารือประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง
- โครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี กระทรวงศึกษาธิการ
จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2546 อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารี เพื่อร่วมถวายพระพรและแสดงความจงรักภักดีเนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษาเมื่อปี 2546 กระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เป็นต้นมา โดยจัดสรรทุนการศึกษาให้นักเรียนและสามเณรในสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีอัตราการเรียนต่อที่ค่อนข้างต่ำได้มีโอกาสเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนจบปริญญาตรี และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้รับทุนกลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเองภายหลังสำเร็จการศึกษา
เนื่องจากอัตราทุนของโครงการไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผู้รับทุนส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายด้านการเรียนมากกว่าอัตราทุนที่ได้รับ รวมทั้งผู้รับทุนมีสภาพครอบครัวที่ยากจน ด้อยโอกาสทางการศึกษา มีภาระในการหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว ผู้รับทุนบางรายมีปัญหาทางครอบครัว ปัญหาด้านสุขภาพ เป็นอุปสรรคต่อการเรียน ส่งผลให้ต้องออกกลางคัน บางรายเปลี่ยนย้ายสาขาวิชาโดยการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ทำให้หมดสิทธิ์ในการรับทุน
ที่ประชุมได้เห็นชอบการขยายโครงการทุนการศึกษาเฉลิมราชกุมารีระยะที่ 2 จำนวน 10 รุ่น รุ่นละ 600 ทุน รวมทั้งสิ้น 6,000 ทุน เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเพิ่มอัตราเงินทุนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจาก 15,000 บาท/ปี เป็น 25,000 บาท/ปี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จาก 15,000 บาท/ปี เป็น 35,000 บาท/ปี ในระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพิ่มจาก 30,000 บาท/ปี เป็น 55,000 บาท/ปี
ทั้งนี้ ให้มีการปรับหลักเกณฑ์ที่มีผลผูกพันนักเรียนทุนว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วต้องทำงานในหน่วยงานใด และให้มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุนอย่างต่อเนื่อง
- การขอจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล*
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television : DLTV) และโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Distance Learning Information Technology : DLIT) เพื่อแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 15,369 โรงที่ขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาเอก พบว่าผลการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการประกันคุณภาพผู้เรียน (NT) ของโรงเรียนขนาดเล็กในปีการศึกษา 2557 มีผลสูงกว่าโรงเรียนขนาดกลางร้อยละ 1.37 และสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ร้อยละ 1.88 เมื่อเปรียบเทียบกับปีการศึกษา 2556 ส่วนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนขนาดเล็กที่จัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมระดับชั้นประถมศึกษาปีที 6 ใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ มีผลคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นจากปีการศึกษา 2556 ร้อยละ 3.07
จากนโยบายการจัดการเรียนการสอนผ่านดาวเทียมที่ประสบความสำเร็จ สพฐ.จึงได้พัฒนาต่อยอดสองโครงการดังกล่าวภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล” (Distance Learning Thailand : DL Thailand) โดยจะจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล เพื่อเป็นหน่วยงานวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมและการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งวางแผนกระบวนการเรียนรู้ การใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน นิเทศ กำกับ ติดตาม ประเมินผล วิจัยและพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล โดยช่วงแรกอาจจัดตั้งเป็นศูนย์เฉพาะกิจ มีบุคลากรจำนวน 17 คน ซึ่งยืมตัวจากหน่วยงานในสังกัด สพฐ. เมื่อมีการจัดตั้งเป็นศูนย์ในสังกัด สพฐ.แล้ว ก็ให้มีการเกลี่ยอัตรากำลังที่เหมาะสมต่อไป
*อ่านรายละเอียดข่าวเพิ่มเติมที่ 179
- โครงการการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49 พ.ศ. 2560 ในประเทศไทย (The 49th International Chemistry Olympiad in Thailand 2017)
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้นำเสนอโครงการการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 49 พ.ศ. 2560 ในประเทศไทย (The 49th International Chemistry Olympiad in Thailand 2017) โดยคาดว่าจะมีเยาวชนตัวแทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมการแข่งขันประมาณ 80 ประเทศ แต่ละประเทศจะส่งเยาวชนเข้าร่วมแข่งขัน 4 คน อาจารย์ผู้ควบคุมทีม 3 คน นอกจากนี้ยังมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์อีกประมาณ 3 ประเทศ รวมคณะกรรมการและทีมงานจัดการแข่งขันครั้งนี้ ประมาณ 800 คน
การจัดการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศด้านวิชาการ ทำให้การเรียนการสอนวิชาเคมีเป็นที่สนใจของเยาวชนและนักวิชาการทั่วไป ทำให้เยาวชน อาจารย์ผู้สอน นักเคมี ได้มีประสบการณ์ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ โดยกำหนดจัดการแข่งขันในเดือนกรกฎาคม 2560 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ