หลังวันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการจะปรับเปลี่ยนจากการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-auction (อี-ออคชั่น) ที่ใช้มากว่า 10 ปี เพราะตั้งข้อสังเกตว่ามีช่องโหว่ เนื่องจากผู้ประมูลต้องมายื่นซองประมูลและเคาะราคาแข่งขันยังสถานที่หน่วยงานราชการจัดไว้ให้ อาจจะทำให้กลุ่มผู้ประมูล เจ้าหน้าที่ เจอหน้ากันบ่อยๆ นำไปสู่การฮั้วได้
ระบบใหม่ที่จะถูกนำมาใช้ทดแทนเรียกว่า วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding (อี-บิดดิ้ง) และวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-market (อี-มาร์เก็ต)
ว่ากันตามหลักการของระบบการจัดซื้อจัดจ้างแบบใหม่ จะเริ่มต้นจากการจัดทำระบบข้อมูลสินค้า e-catalog (อี-แคตตาล็อก) เป็นระบบฐานข้อมูลรายละเอียดสินค้า บริการ งานจ้างของผู้ขาย และผู้ให้บริการ ซึ่งจะต้องลงทะเบียนไว้ในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง เพื่อเป็นฐานราคากลางไว้ตรวจสอบ
หน่วยราชการใดมีความต้องจัดซื้อจัดจ้างก็เข้าไปตรวจสอบในอี-แคตตาล็อก สามารถเลือกได้ 2 แนวทางคือ ระบบอี-มาร์เก็ต เป็นวิธีการซื้อหรือการจ้างที่มีรายละเอียดคุณลักษณะไม่ซับซ้อน เป็นสินค้าหรือบริการทั่วไป เช่น กระดาษ อุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น
ขณะที่ระบบอี-บิดดิ้ง เป็นวิธีการซื้อหรือการจ้างที่มีรายละเอียดคุณลักษณะที่มีความซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ เช่น งานก่อสร้างที่ต้องใช้ความประณีตเป็นพิเศษ การจัดซื้อจัดจ้างยาและเวชภัณฑ์บางประเภท และการพัฒนาระบบสารสนเทศที่มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นต้น โดยให้ผู้ขาย ผู้ให้บริการ หรือผู้รับจ้าง เข้ายื่นประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ผ่านทางระบบจัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลาง
ความคาดหวังให้ทั้งสองระบบใหม่ขจัดปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณรัฐเกิดความโปร่งใส เป็นธรรม มีเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงไร "มนัส แจ่มเวหา" อธิบดีกรมบัญชีกลาง เจ้าของไอเดียให้รายละเอียดว่า อี-บิดดิ้งและอี-มาร์เก็ต เป็นระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกรมได้ทดลองใช้กับหน่วยงานนำร่อง ได้แก่ ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง 9 หน่วยงาน และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีก 3 แห่งคือ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันโรคทรวงอก ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี
ในระบบอี-มาร์เก็ต มีผู้ค้าให้ความสนใจนำสินค้ามาลงในแคตตาล็อกขายสินค้านำร่องแล้ว 2,800 บริษัท ซึ่งผู้ค้าที่สนใจสามารถลงทะเบียนเป็นผู้ค้าภาครัฐได้ที่เว็บไซต์ www.gprocurement.go.th หรือหากสนใจเสนอราคาขายสินค้าในระบบอี-มาร์เก็ต ผู้ค้าภาครัฐต้องนำข้อมูลสินค้ามาบันทึกในระบบอี-แคตตาล็อกก่อน
การที่กรมบัญชีกลางปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐใหม่เพื่อให้ภาครัฐได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลดการรั่วไหลจากการทุจริต ความไร้ประสิทธิภาพ และลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า อีกทั้งช่วยส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน เนื่องจากมูลค่าตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ในแต่ละปีมีมูลกค่ากว่า 5-6 แสนล้านบาท จาก 1.5-1.6 ล้านโครงการ
ขณะที่ในฟากเอกชน อย่าง "ไพบูลย์ พลสุวรรณา" ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า การที่กรมบัญชีกลางจะนำระบบอี-บิดดิ้งมาใช้แทนอี-ออคชั่น ในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น มีความโปร่งใสมากขึ้น และสามารถขจัดปัญหาข้อร้องเรียนภายหลังจากที่มีการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว ซึ่งทำให้การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้ากว่าเดิม โดยเมื่อนำระบบอี-บิดดิ้งมาใช้จะสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ดีกว่าอี-ออคชั่น จึงมีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น และเป็นการแก้ปัญหาการร้องเรียนย้อนหลังได้ และเห็นว่ารัฐบาลควรนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการรวมศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างแบบอี-บิดดิ้งไว้ที่เดียวหรือ National Single Window ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบสามารถทำได้ง่ายขึ้น และข้อมูลของการจัดซื้อจัดจ้างเป็นระบบบนฐานข้อมูลเดียวกัน ง่ายต่อการค้นหา
"พิชัย นริพทะพันธุ์" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นว่า อยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาระบบอี-บิดดิ้งของต่างประเทศให้ชัดเจน ก่อนนำมาใช้ในประเทศไทย โดยในต่างประเทศจะมีสิ่งที่เรียกว่า "เวนเดอร์ ลิสต์" หรือรายชื่อของบริษัทที่จะเข้ามาเสนอราคา ต้องมีประวัติการทำงานต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะมั่วเข้ามากันหมด
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นประกอบอีกด้วย เช่น บีโอคิว การตรวจราคาบีโอคิว คือปริมาณและคุณภาพสินค้าที่จะเสนอราคาว่า สินค้านั้นต้องมีคุณภาพเท่าไรจึงจะนำเข้ามาเสนอราคาได้ เช่น เหล็กประเภทไหน กี่หุน คุณภาพเป็นอย่างไร ในต่างประเทศจะมีระบุไว้เลยว่ามีรายละเอียดอย่างไรจึงจะผ่านเกณฑ์นำเข้ามาเสนอราคาได้
พิชัยย้ำทิ้งท้ายว่าอยากเสนอให้ไปศึกษารายละเอียดให้รอบคอบก่อน เพราะถ้าเอามาใช้แล้วระบบอี-บิดดิ้งยังหลวมๆ จะสร้างปัญหามากกว่า แถมจะเกิดการทุจริตมากขึ้นด้วย และในที่สุดอาจจบลงที่ไม่สามารถสรุปการจัดซื้อจัดจ้าง ถูกฟ้องร้องกันจนเลื่อนโครงการ จะเกิดผลเสียมากกว่าได้
ยิ่งในสถานการณ์ตอนนี้ อาจทำให้การใช้จ่ายของรัฐบาลที่จะกระจายไปสู่ระบบเศรษฐกิจช้าลงไปอีก ยิ่งทำให้เศรษฐกิจยิ่งแย่ลง ถ้าการใช้จ่ายของรัฐบาลไม่รวดเร็ว ลงทุนไม่ได้ ปัญหาตามมาอีกมาก
ที่มา : นสพ.มติชน
แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)