รวมประเด็นจากเวทีปฏิรูปการศึกษา ถนนทุกสาย มุ่งมาที่ "ครู"
ข้อมูลจากคอลัมน์ เลาะเลียบคลองผดุงฯ โดย ตุลย์ ณ ราชดำเนิน วันนี้ ได้นำเสนอประเด็นจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ ที่กรรมาธิการยกร่างและสถาบัน พระปกเกล้าร่วมกันจัดภายใต้โครงการ "ประชาเสวนาหาทางออก สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย" ทั่วประเทศ 10 เวที มานำเสนอ ดังนี้ครับ
การศึกษาจากเวทีปชช.
เลาะเลียบคลองผดุงฯ
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน tulacom@gmail.com
ประเด็นจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ ที่กรรมาธิการยกร่างและสถาบัน พระปกเกล้าร่วมกันจัดภายใต้โครงการ "ประชาเสวนาหาทางออก สานพลังประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทย" ทั่วประเทศ 10 เวที ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเช่นกัน
กล่าวจำเพาะความเห็นแนวทางและมาตรการด้านกฎ นโยบาย เกี่ยวกับการศึกษาที่ดีและการปฏิรูปการศึกษา ประชาชนเห็นว่าในรัฐธรรมนูญควรกำหนด ให้รัฐจัดสวัสดิการการศึกษาให้กับคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย และมีนโยบายเรียนฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี รวมถึงสนับสนุนการศึกษานอกระบบให้เป็นรูปธรรม
ส่วนนโยบายการศึกษาให้บรรจุเป็นกฎหมาย เริ่มจากท้องถิ่นสู่ระดับชาติ มีกลไกการรับข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลก่อนนำไปสู่นโยบายและกำหนดเป็นวาระของชาติ ปรับหลักสูตรให้ง่ายต่อการเรียนรู้ ได้คิดมากกว่าท่องจำ
ในประเด็นการคัดเลือกและพัฒนาครู ให้มีระบบนำผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นเข้ามาเป็นครู มีระบบการช่วยเหลือครู ปรับปรุงคุณภาพครู ยกระดับวิชาชีพครูให้เทียบเท่าวิชาชีพอื่นๆ หากนักเรียนไม่ได้คุณภาพครูต้องรับผิดชอบ
ครูต้องมีอิสระการสอน ไม่ถูกบังคับโดยระบบประเมิน สำหรับการประเมินวิทยฐานะครู ต้องคำนึงถึงเด็กเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประเมินจากเอกสาร มีการประเมินที่ชัดเจนโดยใช้การสัมภาษณ์ควบคู่
เล็งไปที่ให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมผู้อำนวยการโรงเรียนก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง โดยครู คณะกรรมการศึกษาและ ผู้ปกครองร่วมกันตรวจสอบ มิใช่เป็นประเภทเป็นใครมาจากตรงไหนยังไงก็ได้ส่วนคณะกรรมการสถานศึกษามีวาระ 2 ปี และให้หมุนเวียนผู้บริหารเพื่อลดอำนาจการผูกขาด
ส่วนประเด็นของการกระจายอำนาจทางการศึกษาสู่ท้องถิ่นนั้น ให้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการในท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณา ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารท้องถิ่น นอกจากนี้ หลักสูตรของท้องถิ่นให้มีทั้งเรียนรู้การเกษตร ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ประวัติ ศาสตร์ชาติไทย และศีลธรรม โดยร่วมเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน เรื่องเหล่านี้ควรบรรจุในแผนการศึกษาของชาติ
หลักสูตรอาชีวะและอุดมศึกษาต้องพัฒนาให้เหมาะกับสภาพทางเศรษฐกิจ เน้นนำไปใช้ได้จริง ปฏิบัติร้อยละ 65 ทฤษฎีร้อยละ 35 ส่งเสริมให้ทำธุรกิจส่วนตัว จัดตั้งร.ร.วิชาชีพทุกจังหวัดโดยท้องถิ่นสนับสนุนงบฯ ประเด็นการศึกษาจากเวทีประชาชนทั่วประเทศ จะถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแค่ไหน ต้องตามดู
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558