เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน( ปปง.) นายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พร้อมด้วย ตัวแทนครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาได้นำเอกสารและพยานหลักฐาน พร้อมหนังสือร้องเรียนจำนวนกว่า 5,000 ฉบับ ยื่นเรื่องร้องต่อ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการปปง.เพื่อขอให้ตรวจสอบต้นสังกัดของ โครงการกู้เงินโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.)เนื่องจากแสดงข้อความอันเป็นเท็จในการปกปิดความจริงที่ควรแจ้งเข้าข่ายความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
โดย พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า โครงการฯที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนให้ปปง.ตรวจสอบ เป็นโครงการกู้เงินของโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูฯร่วมกับธนาคารในการกำกับของรัฐและบริษัทประกันภัยในการกำกับของรัฐได้ปล่อยสินเชื่อการกู้เงินโดยบังคับให้ทำประกันชีวิตวงเงินสินเชื่อเป็นเวลา 9-10 ปี โดยหักเงินจากยอดเงินกู้ พร้อมคิดดอกเบี้ย จะเป็นประโยชน์ หากผู้กู้เสียชีวิต ทางบริษัทประกันภัย จะชดใช้หนี้คืนให้ทั้งหมด
"จากการตรวจสอบ ไปยังสำนักงาน คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้รับแจ้งว่าทางธนาคารและบริษัทประกันภัยดังกล่าวได้ทำประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ ไม่ใช่ประกันชีวิตอย่างที่แจ้งกับครูผู้กู้ อีกทั้งไม่ได้ให้กรมธรรม์ประกันภัยใดๆแก่ครูผู้เอาประกันภัย ซึ่งมีผู้ร่วมโครงการฯกว่า 150,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 5,000 ล้านบาท"
เลขาธิการ ปปง.ยืนยันว่า ปปง.จะรับเรื่องไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ข้อเท็จจริง ตรวจสอบข้อมูลและพยาน หลักฐานต่างๆ เบื้องต้น คาดจะมีความผิดทางอาญาฐานฉ้อโกงประชาชน จากนี้ ปปง.จะเร่งสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อส่งเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามกฎหมายฟอกเงินต่อไป เพื่อช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของทุกคนอย่างเร่งด่วนต่อไป
ด้าน นายสงกานต์ ประธานเครือข่าย ต่อต้านการบ่อนทำลายชาติฯ กล่าวว่าโครงการนี้ได้ทำมากว่า 7 ปีแล้ว แต่ ผู้เสียหายครู-อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ไม่ได้รับกรมธรรม์ จากบริษัทประกันแต่อย่างใด ซึ่งมีความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านบาท ดังนั้น ต้องการให้ เลขาธิการปปง. ตรวจสอบ และอายัดทรัพย์สินของคณะผู้บริหารต้นสังกัด โครงการ ช.พ.ค. ที่มีส่วนเห็นชอบ ผู้บริหารของธนาคาร และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อโครงการ ผู้ประกอบการ ตัวแทน นายหน้า ของบริษัทประกันภัย เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปยังบุคคลที่สาม และในวันที่ 31 พฤษภาคม ครูและ ผู้เสียหายจะเดินทางมา กทม.จากนั้นวันที่ 1 มิถุนายน ผู้เสียหายจะรวมตัว เดินทางไปกองปราบปรามเพื่อแจ้งความให้ดำเนินคดีเอาผิดผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
ขณะที่ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวถึงความคืบหน้าที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติวงเงิน 4.5 หมื่นล้านเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาผู้มีรายได้น้อย ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาไร่ละ 1,000 บาท ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ หรือ 15,000 บาท ว่าโครงการได้แล้วเสร็จกว่าร้อยละ 90
ทั้งนี้ จากที่ศูนย์อำนวยการ ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)ได้ลง พื้นที่ตรวจสอบการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาใน 14 จังหวัด 30 อำเภอ จำนวน 111 แปลง พบการกระทำผิดในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ จ.ชัยภูมิ และจ.นครราชสีมา โดย ผู้กระทำผิดมีตำแหน่งระดับผู้ใหญ่บ้าน มีพฤติกรรมในการเรียกรับผลประโยชน์ 2 กรณีคือ1.เรียกค่าตอบแทนจากชาวนา รายละ100-200 บาทโดยอ้างว่าจะลงชื่อเพื่อให้ได้รับสิทธิในโครงการ และ 2.คือ เรียกเงินจำนวน 3,000-7,000 บาท หากชาวนาต้องการให้แจ้งพื้นที่เกินจากความเป็นจริง เช่น เกษตรกรทำนาจริงเพียง 5 ไร่ แต่ให้แจ้งขึ้นทะเบียนเป็น 10 ไร่ โดยทั้ง 2 กรณี ทางป.ป.ท.ได้รับเรื่องไว้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วและยังพบว่ามีชาวนาขึ้นทะเบียนไม่ถูกต้อง แจ้งข้อมูล ซ้ำซ้อนและแจ้งข้อมูลพื้นที่เกินและแจ้งพื้นที่นาคาบเกี่ยว
ด้าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวถึงการพิจารณารายชื่อข้าราชการที่อาจเข้าข่ายทุจริต ลอต 2 ของ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ว่า คงไม่มากเท่ากับลอตแรก เพราะครั้งนี้จะคัดกรองว่าส่วนไหนอยู่ในอำนาจกระทรวงก็ให้กระทรวงดำเนินการ แต่ถ้าอยู่ในอำนาจของนายกฯ ก็จะเสนอต่อนายกฯ ซึ่งจะดำเนินการอย่างเร็ว เพราะมันเป็นงานที่ไม่ได้ทำเพียงแค่ให้ดูดี แต่เราทำงานเพื่อให้เกิดผลอย่างแท้จริง ส่วนการพิจารณาลงโทษแบบไหนคงขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า