จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปทางโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ถึงพฤติกรรมการบริโภคด้วยการดึงก้นแมลงชนิดต่างๆ ที่นิยมรับประทาน โดยเมื่อมีการดึงก้นแมลง ก็พบว่า ท้องของแมลงมีทั้งพยาธิและไข่ของพยาธิมากมาย จนสร้างความหวาดกลัวและกังวลใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะกินแมลงทอดนั้น
วันที่ 27 พฤษภาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปกติแล้วในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราก็จะมีพยาธิและเชื้อโรคต่างๆอยู่แล้ว ดังนั้นการพบพยาธิในสัตว์จึงไม่ใช่เรื่องแปลก และพยาธิทุกตัวไม่ได้ทำให้เกิดโรคในคนได้ ซึ่งจะมีพยาธิบางชนิดเท่านั้นที่จะเกิดโรคในคน
พบบ่อยมี 2 ชนิด ได้แก่ พยาธิใบไม้ในตับ ที่ได้รับจากการรับประทานปลาดิบ พยาธิปากขอที่จะไชเข้าตามเท้า เป็นต้น ส่วนชนิดอื่นส่วนใหญ่แล้วจะไม่ก่อโรคถึงแม้จะกินเข้าไปก็ไม่อันตราย ยกเว้นบางรายที่มีอาการแพ้หรือพยาธิไชไปผิดที่ผิดทาง เช่น พยาธิอาจไชไปทำลายอวัยวะต่างๆจนทำให้เกิดโรคแต่กรณีนี้ก็พบน้อย
สำหรับพยาธิตัวยาวที่อยู่ในตัวแมลงตามคลิปที่มีการเผยแพร่นั้น หากนำไปทอดจนสุกแล้วนำมารับประทานก็จะไม่ได้รับอันตราย และพยาธิดังกล่าวก็ไม่สามารถเจริญเติบโตในร่างกายได้ เพียงแต่อาจเกิดกรณีที่พยาธิตัวใหญ่มากๆแล้วไปอุดลำไส้ก็เป็นไปได้ แต่โอกาสเกิดก็น้อยมาก อย่างไรก็ตามปัจจุบันแมลงที่นำมาทอดขาย ส่วนใหญ่มาจากฟาร์มเลี้ยง ซึ่งมีวิธีเลี้ยงที่สะอาด จึงปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงไม่ต้องกังวล
หากจะรับประทานแมลงก็ขอให้รับประทานแบบสุกๆ โดยเชื้อโรคทั่วไปจะถูกทำลายที่ความร้อน 70 องศาเซลเซียส ทอดประมาณ 15-30 นาที ก็จะสามารถค่าเชื้อโรคได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่เท่าที่พบแมลงทอดก็มักจะสุกอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่ประชาชนควรระวังคือไม่ควรรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจไปกระตุ้นสารเคมีที่อาจมีอยู่ในแมลงบางชนิด และหากพบอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกชาปาก มือชาก็ให้หยุดรับประทาน
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์