สารจากโฆษก สพฐฉบับที่ ๘/๒๕๕๘
สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่สนใจความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการศึกษาทุกท่านครับ สารฉบับนี้ผมคงชวนคุยเรื่องราวเกี่ยวกับงานมิติใหม่การศึกษา, งบประมาณปี พ.ศ.๒๕๕๘, ๒๕๕๙ เริ่มเลยนะครับ
๑. ควันหลง “งานมิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย”
จบลงไปแล้วครับ สำหรับ “งานมิติใหม่การศึกษา เดินหน้าประเทศไทย” จัดไปเมื่อวันที่ ๒๑ – ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ณ บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีให้เกียรติมาเป็นประธาน และเยี่ยมชมนิทรรศการ เสียดายที่ท่านมีเวลาจำกัด จึงชมนิทรรศการได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ตัวแทนของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ก็ได้มาร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ ผมคุยได้เต็มปากเต็มคำว่า “ไม่อายใคร” ในอาเซียน
- พิธีเปิด บรรเลงเพลงโดยโรงเรียนมัธยมสังคีต ใช้เครื่องดนตรีไทย และดนตรีสากลบรรเลงประสานเสียงกัน สุดยอดครับ
- การลดความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนบ้านเมืองกื๊ด จ.เชียงใหม่ โรงเรียนศึกษาพิเศษ , ศึกษาสงเคราะห์
- การแก้ปัญหาอ่านออกเขียนได้ โรงเรียนวัดทำนบ จ.ราชบุรี โรงเรียนบ้านปางถ้ำ จ.พะเยา โรงเรียนวัดหนองโรง จ.นครสวรรค์
- การต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม จ.พิจิตร
- ทักษะทางภาษา ก้าวสู่อาเซียน โรงเรียนโพธิสารพิทยากร กรุงเทพมหานคร
- การสอนวิชาชีพในโรงเรียน โรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม จ.สุรินทร์ โรงเรียนหนองแซงวิทยา จ.สระบุรี โรงเรียนท่าอาจ จ.ตาก โรงเรียนบ้านแดงใหญ่ จ.ขอนแก่น
ต้องขอขอบคุณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่ร่วมมือกันทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและชุมชน ผมเชื่อว่าโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทุกแห่งก็พยายามทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเต็มที่ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ปรากฏ แต่เนื่องจากเวลาและสถานที่มีจำกัด สพฐ. จึงเชิญตัวแทนของโรงเรียนมานำเสนอได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น
๒. การเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันนะครับ ว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น จึงได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ออกมาหลายประการ หนึ่งในมาตรการดังกล่าวก็คือ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ สพฐ. ไม่ค่อยห่วงงบบุคลากร งบดำเนินงาน งบอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่นเท่าไรนัก คิดว่าคงเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย งบที่น่าเป็นห่วง ก็คือ งบลงทุน (ครุภัณฑ์ และสิ่งก่อสร้าง) ปีนี้เราได้งบลงทุนมาประมาณ ๑๖,๐๐๐ ล้าน ขณะนี้เบิกจ่ายไปได้เพียง ร้อยละ ๒๐ เท่านั้น เป้าหมายเมื่อสิ้นไตรมาส ๓ (๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๘) ต้องเบิกจ่ายให้ได้ ร้อยละ ๗๔ ใจชื้นขึ้นมาอีกนิดนึง เมื่อทราบว่าหน่วยงานในสังกัด ก่อหนี้ผูกพัน (ทำสัญญาซื้อ – จ้าง) เพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ ๕๐ รวมยอดเดิมก็ร้อยละ ๗๐ แล้วสิ ท่านรัฐมนตรีได้ขยายเวลาการก่อหนี้ผูกพันจากเดิม “ภายใน ๑๕ พฤษภาคม” เป็น “ภายใน ๓๐ พฤษภาคม” อีก ๕ วันครับ ถ้าใครยังก่อหนี้ผูกพันไม่ได้ คงต้องให้เหตุผลกันอย่างหนักแน่น หากเป็นเหตุสุดวิสัย และไม่อยู่ในอำนาจของเรา เช่น เรื่องก่อสร้างของโรงเรียนเรา หาผู้รับจ้างไม่ได้เพราะราคากลางต่ำเกินไป หาผู้รับจ้างไม่ได้ ต้องของบประมาณเพิ่มเติม และต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรี แบบนี้เป็นเหตุผลที่รับฟังได้ แต่ถ้าได้งบประมาณไปแล้ว ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเลยจนถึงขณะนี้ แบบนี้มีปัญหาแน่นอนครับ จากการประมวลข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า เหตุแห่งความล่าช้าในการบริหารงบลงทุนมี ๒ ประการ คือ ประการแรก ผู้ได้รับการจัดสรรขาดความพร้อม เช่น ขนาดพื้นที่เล็กกว่าขนาดของอาคาร ไม่มีแบบรูปรายการ (Plan) หรือคุณลักษณะเฉพาะครุภัณฑ์ (Specification) ต้องการเปลี่ยนแปลงรายการจากเดิมที่ได้รับจัดสรร เป็นต้น ประการที่สอง ราคากลางของสิ่งก่อสร้างที่เกินไปจนหาผู้รับจ้างไม่ได้ หรือหาได้ก็ทิ้งงานในภายหลัง วิธีแก้ไขปัญหาเงินไม่พอทำได้ ๓ วิธีครับ หนึ่ง ของบประมาณเพิ่มเติม (ได้ยากครับ) สอง ระดมทรัพยากรเพิ่มเติม (ทำได้เป็นบางแห่ง) สาม ลดแบบรูปรายการสิ่งก่อสร้าง (ดีที่สุดในภาวะนี้)
หลายท่านสงสัยว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหากก่อหนี้ผูกพันไม่ทันกำหนด และเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย มีแน่นอนครับ อย่างน้อย ๓ ประการ หนึ่ง กระทบต่อการพิจารณางบประมาณ ปี ๒๕๕๙ คำพูดจากกรรมาธิการงบประมาณที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ ก็คือ “งบเก่าก็ยังไม่มีปัญญาใช้เลย จะมาของบใหม่ไปทำไมอีก” สอง งบประมาณอาจถูกเปลี่ยนไปใช้เรื่องอื่น สาม เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการบริหารของหัวหน้าส่วนราชการที่ได้รับงบประมาณ ช่วย ๆ กันหน่อยนะครับ มีปัญหาติดขัดอะไร อย่าเก็บไว้ รีบแจ้งแถลงไข จะได้ช่วยกันแก้ปัญหา
๓. งบประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๕๙
ขณะนี้ งบประมาณ ปี พ.ศ.๒๕๕๙ ได้ผ่านการพิจารณาวาระที่ ๑ ไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ที่ผ่านมา จากนี้ไปอีกประมาณ ๗๐ วัน ก็เป็นช่วงการพิจารณารายละเอียดของคณะกรรมาธิการงบประมาณ จากนั้นก็จะเป็นการพิจารณา วาระ ๒,๓ สิ้นสุดการพิจารณา วาระ ๓ ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ ปี ๒๕๕๙ สพฐ. ขอตั้งงบประมาณไป จำนวน ๓๒๐,๔๔๙.๔๙๖๙ ล้านบาท เพิ่มจากปี ๒๕๕๘ จำนวน ๕,๒๖๑.๑๕๔๓ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๑.๖๗ ซึ่งเป็นเงินเดือนและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น สพฐ. ขอตั้งงบอัตราจ้างธุรการประจำโรงเรียนอีก ๓,๐๐๐ อัตรา จากเดิมที่มีอยู่ ๑๔,๕๓๒ อัตรา หวังว่า จะให้ไปช่วยแบ่งเบาภาระครูด้วย จะให้ครูทำหน้าที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างเดียว ไม่ต้องมาทำเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องการเรียนการสอน สำหรับอัตราจ้างอื่นๆ ก็ขอตั้งงบประมาณไปครบทุกตำแหน่งครับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ก็ขอไปหลายครั้ง อดใจรอนิดนึง พิจารณาวาระ ๓ แล้ว ก็จะทราบครับ ว่าเราจะถูกตัดรายการใดไปบ้าง ขณะนี้ผ่านวาระ ๑ ไปแล้ว ยังได้ครบตามที่ขอไปครับ ผมคิดว่าคงไม่มียุคไหนอีกแล้วที่รัฐบาลจะให้งบประมาณเรามากมายขนาดนี้ ดังนั้น เมื่อได้มาแล้วก็พยายามนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนะครับ
คงพอแค่นี้ก่อนนะครับ ฉบับหน้าพบกันใหม่ครับ
ที่มา สารจากโฆษก สพฐ. ฉบับที่ ๘/๒๕๕๘ วันที่ 25 พฤษภาคม 2558