นายชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ในฐานะ หัวหน้าโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้เสนอแนะให้รัฐบาลบริหารงบประมาณเพื่อการศึกษา โดยควรพิจารณาเรื่องการบริหารครูใหม่ทั้งระบบให้สอดคล้องกับจำนวนนักเรียนที่ลดลง ปัญหาครูขาดแคลน และเกินจำนวนในบางพื้นที่ ลดกิจกรรมจากหน่วยงานกลาง กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตัดสินใจและจัดการทรัพยากรได้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการใช้งบประมาณด้านการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลการลงทุนด้านการศึกษาของประเทศไทยตั้งแต่ปี2551-2556 พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับสูง โดยในปี2556 มีมูลค่าถึงกว่า8 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เป็นรายจ่ายสำหรับเงินเดือน พัฒนาครูและการบริหารจัดการ คิดเป็น86%และเป็นงบลงทุน อาทิ สิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์ คิดเป็น4%ส่วนที่เหลืออีก10%เป็นการพัฒนาการเรียนการสอนผู้เรียน6% และค่าเครื่องแบบ เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน4% โดยถ้าดูงบประมาณที่ลงทุนไปพอเพียง แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นที่น่าพอใจ ดังนั้น จึงต้องทบทวนวิธีการลงทุนว่าจะทำอย่างไรให้การลงทุนเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
นอกจากนี้ ยังเสนอว่า การจะลงทุนด้านการศึกษาให้เกิดความคุ้มค่า รัฐต้องปรับสัดส่วนการลงทุน โดยเน้นในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาให้มากขึ้น เน้นการใช้ทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แทนการจัดสรรแบบให้ทั่วถึงแบบเดิม คำนึงถึงความแตกต่างตามพื้นที่ ภูมิศาสตร์ และความจำเป็นของผู้เรียน รวมถึงต้องปรับแนวทางการระดมทรัพยากรจากภาคประชาชน โดยแรงจูงใจทางภาษี และส่งเสริมภาคเอกชนดำเนินจัดการศึกษามากขึ้น นอกจากนี้ โรงเรียนรัฐขนาดเล็กในเมือง หากไม่จำเป็นควรพิจารณายุบ ควบ รวม พร้อมกันนี้ควรสนับสนุนโรงเรียนดีในตำบล ให้มีคุณภาพเป็นทางเลือกของผู้ปกครอง
นายไกรยศ ภัทราวาท นักวิชาการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) กล่าวว่าโจทย์ของการศึกษาไทยในเวลานี้ ไม่ใช่มีงบประมาณเพียงพอหรือไม่พอกับการจัดการศึกษาแต่จะอยู่ที่ว่าจะใช้งบประมาณอย่างไรให้คุ้มค่าและเกิดคุณภาพต่อการศึกษา เพราะขณะนี้ถือว่าสูงมากและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ7% แต่ผลสัมฤทธิ์ในภาครวมของเด็กกลับต่ำ ผิดกับบางประเทศที่ใช้งบฯน้อยกว่าแต่คุณภาพของเด็กสูงกว่า จึงเป็นเหตุที่เราต้องมาดูว่าเงินลงทุนด้านการศึกษามีจุดไหนที่จะต้องปรับปรุงแก้ไข ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ควรนำผลวิจัยดังกล่าวไปปรับใช้ในเชิงนโยบาย พร้อมกันนี้ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและเอกชนเข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษาไม่ใช่ให้ศธ.คิดและทำแต่เพียงผู้เดียว
ที่มา โพสต์ทูเดย์ วันที่ 25 พฤษภาคม 2558