การศึกษาไทยลงทุนมากผลสัมฤทธิ์ต่ำ
นักวิชาการ ชี้ไทยทุ่มเม็ดเงินด้านการศึกษาสูงแต่คุณภาพเด็กต่ำ แนะวิธีการลงทุนอย่างคุ้มค่า รัฐต้องปรับสัดส่วนการลงทุนใหม่ จัดสรรเงินตามความจำเป็นของผู้เรียน ยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในเมือง หนุนโรงเรียนดีในตำบล
วันนี้ (25 พ.ค.) ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้มีการเสวนาเรื่อง “ความจริงของรายจ่ายการศึกษาไทย" ในโครงการติดตามเศรษฐกิจไทย(ทีอีเอฟ) ครั้งที่ 4 ซึ่ง รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ในฐานะหัวหน้าโครงการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งว่า จากการเก็บข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับการบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2551-2556 พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับสูง โดยในปี 2556 มีมูลค่าถึงกว่า 8แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เป็นรายจ่ายสำหรับเงินเดือน การพัฒนาครู และการบริหารจัดการ 86% งบลงทุน เช่น การก่อสร้าง และครุภัณฑ์ 4% ส่วนที่เหลืออีก10% แบ่งเป็น การพัฒนาการเรียนการสอนผู้เรียน 6% และค่าเครื่องแบบ เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน 4%
“การลงทุนด้านการศึกษาให้เกิดความคุ้มค่านั้น รัฐต้องปรับสัดส่วนการลงทุน โดยต้องเน้นระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาให้มากขึ้น เน้นการใช้ทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแทนการจัดสรรแบบให้ทั่วถึง คำนึงถึงความแตกต่างตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ และความจำเป็นของผู้เรียน ต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษามากขึ้น นอกจากนี้โรงเรียนรัฐขนาดเล็กในเมืองหากไม่จำเป็นควรพิจารณายุบ ควบรวม และควรสนับสนุนโรงเรียนดีในตำบลให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ปกครอง”รศ.ดร.ชัยยุทธกล่าว
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า โจทย์ของการศึกษาไทยในเวลานี้ ไม่ใช่ว่ามีงบประมาณเพียงพอกับการจัดการศึกษาหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจะใช้งบฯ อย่างไรให้คุ้มค่า และเกิดคุณภาพต่อการศึกษามากที่สุด ซึ่งขณะนี้ไทยใช้งบฯสูง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ7% แต่ผลสัมฤทธิ์ของเด็กกลับต่ำ ผิดกับบางประเทศที่ใช้งบฯ น้อยกว่า แต่คุณภาพของเด็กสูงกว่า ดังนั้นจึงต้องมาดูว่ารายจ่ายด้านการศึกษาจุดใดที่ต้องปรับแก้ ซึ่งอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำผลวิจัยดังกล่าวไปปรับใช้ในเชิงนโยบายด้วย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 พฤษภาคม 2558