น.ท.สุมิตร สุวรรณ
ครูอาจารย์ถือว่าเป็นบุคลากรที่สำคัญในกระบวนการศึกษา มีบทบาทและหน้าที่ในการถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมทั้งการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้เรียน นั่นหมายความว่าจะต้องเป็นทั้ง "คนดีและคนเก่ง"
นับแต่ปี พ.ศ.2542 กระทรวงศึกษาธิการได้ทำการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่มาแล้ว ได้ส่งผลให้เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจในการสอบเข้าศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เป็นจำนวนมาก โดยมีอัตราส่วนการสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อสูงมากเมื่อเทียบกับในสาขาวิชาต่างๆ แต่ก็มีแนวโน้มที่บัณฑิตจบใหม่จะตกงานสูงมากเช่นกัน เนื่องจากขาดการวางแผนการผลิตที่ดี ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานหรือสังคม ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้สำเร็จการศึกษามากกว่า 100,000 คน แต่มีอัตราว่างบรรจุเข้ารับราชการได้ไม่ถึง 10,000 คน ในขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทจำนวนมากยังคงมีปัญหาการขาดแคลนครูเช่นเดิม เนื่องจากไม่มีการบรรจุ เพราะมีเด็กนักเรียนน้อยกว่า 125 คน เมื่อได้รับการบรรจุแล้วครูก็มักจะขอย้ายเข้ามาสอนในโรงเรียนขนาดใหญ่หรือโรงเรียนในเมืองที่มีความสะดวกสบายมากกว่า บางคนก็ขอย้ายกลับบ้านเกิด นอกจากนี้ โรงเรียนขนาดเล็กยังมีปัญหาเรื่องครูไม่ครบทุกชั้นและสอนไม่ตรงกับสาขาวิชาเอกที่เรียนจบมา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าควรเร่งดำเนินการเชิงรุกในระบบการผลิตครู ดังนี้
1.ควบคุมการผลิตบัณฑิตให้เหมาะสมกับอัตราบรรจุหรือตำแหน่งที่ว่าง โดยวางแผนล่วงหน้า 5 ปี หลังจากนั้นสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ และรับจำนวนจำกัดตามตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งอาจเพิ่มจำนวนอีกเล็กน้อยสำหรับการสูญเสียในระหว่างการศึกษาและโรงเรียนเอกชน
2.ให้ทุนการศึกษาตั้งแต่เรียนจนสำเร็จการศึกษาเช่นเดียวกับโรงเรียนทหารหรือตำรวจ โดยคัดเลือกเด็กนักเรียนในชนบทที่มีความประพฤติดีและเรียนเก่ง เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในโรงเรียนชนบทที่ขาดแคลนครูและเป็นบ้านเกิด โดยต้องชดใช้ทุนตามระเบียบที่ทางราชการกำหนด
3.ให้ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มอีกเดือนละ 3,500 บาท ภายหลังการทดลองปฏิบัติงานครบ 2 ปี ในตำแหน่งครูผู้ช่วย ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินอย่างเข้มข้นทั้งด้านการเรียนการสอน คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อให้ความสำคัญกับวิชาชีพครูและให้ได้ "คนดีและคนเก่ง" มีจิตวิญญาณในการเป็นครูจริงๆ
นอกจากนี้ควรปรับวิธีการขอตำแหน่งวิทยฐานะ โดยการประเมินตามสภาพความเป็นจริงหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน มากกว่าการทำผลงานทางวิชาการเหมือนกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพื่อให้ครูทำหน้าที่การเรียนการสอนให้ดีที่สุด ในขณะที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณและอัตรากำลังให้กับโรงเรียนต่างๆ ที่ขาดแคลน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท ซึ่งจะต้องได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น (ไม่ใช่ได้รับงบประมาณตามรายหัวของเด็กนักเรียน) และต้องมีครูให้ครบทุกชั้นปี รวมทั้งมีบุคลากรทางการศึกษา เพื่อลดภาระงานของครู จะได้มีเวลาในการเรียนการสอนอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี การสร้างแรงจูงใจที่ดีจะทำให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นครูช่วยกันพัฒนาผู้เรียนหรือเด็ก ซึ่งจะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น อาจต้องใช้เวลาและความพยายามอดทนกันหลายปี แต่หากเราไม่เริ่มกันตั้งแต่บัดนี้ ก็ไม่ต้องตกใจที่คุณภาพการศึกษาไทยจะอยู่ในอันดับที่ 8 ของกลุ่มประเทศอาเซียนหรืออันดับสุดท้ายต่อไป
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 26 พ.ค. 2558 (กรอบบ่าย)