สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รายงานผลการดำเนินงานตามโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย ต่อที่ประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2558 ซึ่งมีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม
ดร.อกนิษฐ์ คลังแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงความเป็นมาของโครงการว่า ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายเร่งด่วนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงองค์ความรู้ และได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ตลอดจนถึงการเร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา ปรับภาพลักษณ์ และกำหนดมาตรการจูงใจให้นักเรียนนักศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่งเสริมให้บุตรหลานมาเรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการของตลาดแรงงาน
ดังนั้น สอศ. จึงได้จัดโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้น ในปีการศึกษา 2558 โดยมีแนวทางการจัดการศึกษา 2 รูปแบบ คือ
• รูปแบบที่ 1 รับสมัครผู้สำเร็จการศึกษา ม.3 เพื่อเรียนต่อในชั้น ม.4-6 ในโรงเรียนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยเรียนสายสามัญควบคู่กับการเรียนอาชีวะตามหลักสูตร ปวช. โดยเมื่อจบการศึกษาภายใน 3 ปี จะได้รับ 2 วุฒิการศึกษา และ 2 ประสบการณ์ ทั้งสายสามัญและวิชาชีพ
• รูปแบบที่ 2 รับสมัครผู้สำเร็จการศึกษา ป.6 เพื่อเรียนต่อในชั้น ม.1-6 ในโรงเรียน สพฐ. โดยลงทะเบียนเรียนรายวิชาเตรียมวิชาชีพกับสถานศึกษา สอศ. ในระดับชั้น ม.1-3 ก่อน จากนั้นเรียนวิชาชีพในระดับ ม.4-6 แบบทวิภาคี โดยเมื่อจบการศึกษาจะได้รับ 2 วุฒิการศึกษา และ 2 ประสบการณ์ ทั้งสายสามัญและวิชาชีพ
สำหรับงบประมาณในการจัดการศึกษาตามโครงการดังกล่าว ในปีการศึกษา 2558 ได้รับการจัดสรรจากงบกลาง ส่วนปีการศึกษา 2559-2560 จะขอใช้งบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2559-2560 ของ สอศ.เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวในการเรียนหลักสูตรคู่ขนาน ดังนี้
- อุตสาหกรรม 3,900 บาท/คน/ปี
- พาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ 1,960 บาท/คน/ปี
- คหกรรม 2,200 บาท/คน/ปี
- ศิลปกรรม 2,480 บาท/คน/ปี
- เกษตรกรรม 2,950 บาท/คน/ปี
- ประมง 2,950 บาท/คน/ปี
- อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2,200 บาท/คน/ปี
- อุตสาหกรรมสิ่งทอ 2,200 บาท/คน/ปี
นอกจากนี้ ทุกประเภทวิชาดังกล่าว จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเป็นค่าบริการจัดการและค่าใช้จ่ายสำหรับชุดฝึกและชุดนักเรียนสายวิชาชีพอีก ส่วนจะเป็นจำนวนเท่าใดนั้น ที่ประชุมได้ให้ สอศ.ไปทบทวนตัวเลข เพื่อเสนอให้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการรับสมัคร ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2558 (จะสิ้นสุดการรับสมัครภายหลังการเปิดภาคเรียน 1 สัปดาห์) พบว่ามีผู้เรียนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 30,405 คน จาก 588 สถานศึกษา แยกเป็น สพฐ. 29,696 คน และ กศน.709 คน ส่วนผู้เรียนจากโรงเรียนเอกชนยังไม่มีผู้สมัคร
พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการตอบรับจากผู้เรียนเป็นอย่างดี มีผู้สมัครแล้วในขณะนี้มากกว่า 3 หมื่นคน เกินจากเป้าหมายที่แต่เดิมได้กำหนดไว้ 2 หมื่นคน แต่ สอศ.ก็ยืนยันว่าแม้จะมีผู้เรียนเกินกว่าเป้าหมาย ก็ยังคงสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการพร้อมจะให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินโครงการนี้ต่อไป เพราะเชื่อว่างบประมาณที่เพิ่มขึ้นจะมีความคุ้มค่ากับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของผู้ที่ขาดโอกาสอย่างแน่นอน อีกทั้งยังจะช่วยให้ผู้ที่จบหลักสูตรคู่ขนานแบบทวิศึกษานี้ สามารถไปประกอบอาชีพหรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ทั้งยังจะช่วยเพิ่มสัดส่วนจำนวนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญของประเทศจากปัจจุบัน 40:60 ให้เป็นไปตามเป้าหมายคือ 50:50 ในปี 2560
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ