กระทรวงศึกษาธิการของบประมาณปี 59 วงเงิน 5.2 แสนล้าน "รมว.ศธ." ย้ำผู้บริหารทุกหน่วยงานควบคุมดูแลการใช้จ่ายไม่ให้รั่วไหล ชี้สังคมจับตามองว่า ศธ.ได้รับงบเยอะ แต่การศึกษายังด้อยคุณภาพอยู่
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้รับทราบการเตรียมการชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ซึ่งจะชี้แจงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ โดยขณะนี้ ศธ.ได้รับงบประมาณจำนวน 521,580 ล้านบาท ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่าย จำนวน 520,132 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2558 จำนวน 18,806 ล้านบาท หรือได้รับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.75 และงบประมาณกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน จำนวน 1,448 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2558 จำนวน 311 ล้านบาท หรือได้รับเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.46
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบการรายงานผลการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ของ ศธ. ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2557-15 พฤษภาคม 2558 ที่ ศธ.ได้รับงบทั้งสิ้น 501,326 ล้านบาท แยกเป็นงบประจำ 461,384 ล้านบาท และงบลงทุน 39,942 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้เบิกจ่ายงบประจำไปแล้ว 294,594 ล้านบาท หรือร้อยละ 63.85 และงบลงทุนที่ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 15,610 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.08 แต่ก็ถือว่ายังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวอีกว่า งบที่ ศธ.ได้รับล้วนมาจากเงินภาษีอากรของประชาชน จึงควรใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่าและประหยัด โดยเฉพาะงบด้านการศึกษาจำนวนมากนี้ เป็นประเด็นที่สังคมภายนอกและสื่อมวลชนจะนำมาเปรียบเทียบเสมอ ว่าผลการศึกษาไม่ได้ดีขึ้นเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับงบจำนวนมากที่ได้รับ จึงฝากให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานควบคุมดูแลการใช้จ่ายงบไม่ให้มีการรั่วไหล และให้ใช้ตามความจำเป็นจริงๆ
"ที่ผ่านมามีการร้องเรียนและบอกกล่าวถึงการหาผลประโยชน์เชิงนโยบายเข้ามามาก จึงขอเตือนให้ทุกคน ทุกหน่วยงานรับทราบว่า หากพบหลักฐานชัดเจนจะดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาเท่าที่กฎหมายจะทำได้ ส่วนใครที่ทำดี ตั้งใจจริง และไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ก็ขออนุโมทนาที่ใช้เงินของชาติบ้านเมืองให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง" รมว.ศธ.กล่าว
พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับการใช้จ่ายงบดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรกของ ศธ. จำนวน 12,926 ล้านบาทนั้น มีหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับ 8,768 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รับ 2,375 ล้านบาท และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับ 1,782 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมขอให้เร่งดำเนินการเบิกจ่าย หรือก่อหนี้ผูกพัน หรือรอทำสัญญาจ้าง พร้อมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่พบในการดำเนินการ เช่น ปัญหาครุภัณฑ์บางรายการที่มีราคาสูงกว่าราคากลาง การปรับปรุงสเปกครุภัณฑ์ ยกเลิกการประกวดราคา การเปลี่ยนแปลงรายการ เป็นต้น.
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2558