Advertisement
“Socratic Teaching”...เป็นวิธีสอน การแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบ ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าข้อมูลหรือเนื้อหา มุ่งเน้นให้เกิดการตระหนักว่าความคิดของตนเองเป็นเพียงความเชื่อ สามารถปรับแต่งให้คมชัดและมีเหตุผลมากขึ้น
“Socratic Teaching”...อาศัยความสงสัยต่อความเชื่อที่ตนเองยึดถือในเบื้องต้นและการตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าถึงความรู้ที่ลึกซึ้ง เป็นหนึ่งใน “กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา” ...สอนให้เด็กคิดเป็น
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ ย้ำว่า “คิดเป็น”...ในที่นี้หมายถึงเด็กสามารถที่จะคิดวิเคราะห์ในเรื่องวิชาการ เด็กสามารถคิดเป็นเกี่ยวกับเรื่องการใช้ชีวิต สามารถคิดเป็นเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรม ใช้เหตุ ใช้ผลได้อย่างดี ได้อย่างถูกต้อง...มากกว่าเชื่อในสิ่งที่คนอื่นบอก
“ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อที่จะท่องจำข้อมูลหรือวิชาการเอาไปสอบ ไม่ใช่ว่าทำดีโดยไม่รู้ว่าทำไมจะต้องทำ...ไม่รู้เหตุผล...เพียงแต่เขาสั่งมา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อครูสามารถที่จะมีความสัมพันธ์กับเด็กได้ดี ให้เด็กรู้สึกปลอดภัยในการที่จะถาม ในการที่จะตอบ”
ประการต่อมาที่สำคัญ...เราต้องเข้าใจว่าเด็กเล็กๆเกิดมาเขามีคำถามอยู่ตลอดเวลา อยากเรียนรู้ตลอดเวลา สงสัยกันไหมว่า...ทำไมเด็กยิ่งโตยิ่งเงียบ เราทำยังไงถึงจะปลุกสิ่งเหล่านั้นซึ่งมีอยู่แล้วให้คืนกลับมา
ในแง่ตัวเด็กทำอย่างไรถึงจะให้เด็กรู้สึกปลอดภัย กระตือรือร้นที่จะเรียน...อยากจะค้นคว้า... มีคำถามว่าทำไมอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันจะทำอย่างนั้นได้ “ครู”...ก็ต้องมีคำถามถามเด็กเยอะๆ สร้างบรรยากาศ กระตุ้นให้เด็กคิด อยากจะเรียนรู้ อยากจะคุย อยากจะตอบคำถาม แล้วถ้าเด็กคิดมาแล้วสมมติคิดผิด เช่น คิดอย่างไม่มีเหตุไม่มีผล ครูจะช่วยให้เด็กมีความคิดที่วิเคราะห์เป็น...จึงเป็นที่มาของโครงการ “ครูสอนคิด”
ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราทดลองกับโรงเรียนวัดรางบัว โรงเรียนจิตรลดา อยู่ในขั้นพัฒนาแต่ก็ได้ผลน่าพอใจ พูดง่ายๆว่าเรากำลังจะขยายผล...ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำอย่างไรจะสร้างวิทยากรให้มากๆขึ้นไปเรื่อยๆ
วันนี้เราสามารถที่จะสอนให้ครูมีความสามารถในการดึงเอาสิ่งที่ดีๆ ที่สุดของเด็กออกมาให้ได้ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก คิดว่าทำได้ดีแล้ว...ส่วนขั้นที่ทำให้เด็กคิดลึกซึ้งขึ้นอยู่ในระหว่างการพัฒนา ก็ถือว่าได้ดีระดับหนึ่ง และที่จะก้าวไปอีกขั้นก็คือ...การประเมิน ที่จะทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทำไปแล้วในที่สุดเด็กคิดเป็นจริงๆหรือเปล่า
นอกจากคิดทางด้านวิชาการ คิดอย่างมีเหตุมีผล คิดเกี่ยวกับชีวิต...การตัดสินใจในแต่ละเรื่องแล้ว อาจจะรวมความคิดในเชิงจริยธรรมเข้าไปด้วย
ผศ.นพ.ชัยชนะ นิ่มนวล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมอบรม “ครูสอนคิด” เปิดใจว่า ปัญหาครูไทยส่วนใหญ่ตามที่ผมเข้าใจ ถูกภาระหน้าที่ในการถ่ายทอดเนื้อหาไปสู่นักเรียนมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถแม้แต่นึกถึงการตั้งคำถามหรือการชวนให้เด็กได้คิด...มีแรงผลักดันว่ามีเนื้อหาขนาดนี้ ระยะเวลาเท่านี้ต้องสอนเท่านี้
รวมทั้งแรงผลักดันทางด้านการสอบและการแข่งขัน นักเรียนจะต้องสอบผ่านเท่านี้อะไรต่างๆ...ระบบต่างๆทำให้การเอื้อที่จะให้เด็กได้คิดจึงมีน้อย
ผศ.พญ.ศุภรา เชาว์ปรีชา ที่ปรึกษาศูนย์จิตวิทยาการศึกษา เสริมว่า นอกจากปัญหาถูกภาระผลักดันให้สอนแล้ว ตัวครูเองก็โตมาในสังคมหรือโตมาในระบบที่ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้ฝึกคิดมาก่อน เรียนมาภายใต้สังคมที่มีค่านิยมว่าคนที่ได้ความรู้เยอะๆ สอบเก่งๆ ได้เป็นคนที่เก่ง แล้วก็เชื่อว่าตัวเองรู้ เพราะฉะนั้นเขาก็คือเป็นคนที่ไม่รู้ไม่ได้
แล้ว...เขาก็ไม่ได้ถูกสอน ไม่มีแบบอย่างของการให้เห็นว่าครูที่จะช่วยสอนให้คิดจะต้องทำยังไง ฉะนั้นพอจะมาสอนนักเรียนก็จะใส่แบบที่เขาเชื่อว่าเขารู้...การที่เด็กจะคิดเป็นด้วยตัวเองก็หายน้อยลงไปเรื่อยๆ
“ครูสอนคิด” จะเป็นรูปแบบเดียวกันได้จะต้องได้รับการอบรมแบบเดียวกัน ให้มีทักษะที่ดี 3 ด้าน...การถามอย่างเป็นระบบ, การสื่อสารให้เด็กเข้าใจง่าย และการกระตุ้นให้มีส่วนร่วม ความต่างของครูแต่ละท่านจึงไม่ใช่อุปสรรค ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีวิธีการคิด มีกรอบที่ต่างกัน แต่เวลาอบรมก็ทำรูปแบบเดียวกัน มีหลักการร่วมกัน...
สิ่งที่ต้องเน้น “ครู”...จะต้องกระตุ้นให้เด็กได้คิดผ่านการถาม ซึ่ง “คำถาม”...ที่ดี ควรเป็นคำถามที่กระตุ้นให้คิดในเรื่องที่สนใจได้ชัดเจน คิดได้ลึกซึ้ง กว้างขวางขึ้น ช่วยให้เด็กสามารถเชื่อมโยงเรื่องที่สนใจกับตัวเองได้
“ครูที่เข้ามาอบรมให้มีประสบการณ์ตรง ราวกับว่าเป็นนักเรียนได้เห็นกระบวนการ...แก่นครูสอนคิดเป็นหลักสากล ทำอย่างไรให้เด็กมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้ครูสร้างบรรยากาศให้เด็กกล้าที่จะมีส่วนร่วม”
สโลแกนมูลนิธิฯ “ให้ใจเป็นหัวใจของการศึกษา”...ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง “ครู” และ “เด็ก” สำคัญที่สุด ถ้าความสัมพันธ์ไม่ดี ต่อให้ครูเก่งแค่ไหน...ครูก็สอนได้ไม่ดี ดังนั้นต้องเริ่มคืนครูให้กับห้องเรียน
คุณหมอศุภรา ยกตัวอย่างการอบรม เราปล่อยโจทย์อันหนึ่งก็จะให้คิดแล้วก็จับคู่ แล้วก็เอามาแชร์กันเป็นกลุ่ม...แล้วก็แชร์กันทั้งห้อง ค่อยๆสร้างบรรยากาศให้เริ่มจากกล้าคิด คิดแบบเงียบๆส่วนตัว คิดคู่กัน...แชร์กัน กระบวนการที่พาไปด้วยการลงรายละเอียด...ครูหลายคนอาจจะบอกเราทำอยู่ แต่ปัญหามีว่า...ที่ว่าทำอยู่นั้นทำยังไง...ทำอะไร...ทำจากไหนไปไหน ทำแบบลงลึกในรายละเอียดไหม สำคัญคือ...“เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร”
“การอบรมให้ครูมีประสบการณ์ตรงจริงๆเดี๋ยวนั้นทันที ต้องรู้ว่านี่คือการจำลอง เราบอกตั้งแต่ต้นว่านี่คือการเรียนรู้ร่วมกัน...ครูหลายคนจะสัมผัสได้ว่าที่ผ่านมาที่ว่ารู้นั้นอาจจะเป็นการรับรู้ที่เขาเห็นและเลือกที่จะรู้และเชื่อมากกว่าประสบการณ์ตรงที่เขาเผชิญ”
กระบวนการเรียนการสอนที่ผ่านมาที่เราคิดว่ามันดีแล้ว แต่มีบางประเด็นหรือเปล่าที่อาจจะไม่ใช่ เพราะไม่เคยมีการเรียนการสอนไหนที่เราได้ยินเสียงนักเรียนทุกคน การที่ครูได้มาแชร์ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีประสบการณ์ตรงจะเป็นจุดพลิกผันอย่างน่าอัศจรรย์...ไม่จำเป็นต้องคาดหวังผล 100% แต่ได้ผลเสมอ
ปฏิภรณ์ พิทักษ์ ครูโรงเรียนสัตยาไส จังหวัดลพบุรี ผู้เข้ารับการอบรมครูสอนดี บอกว่า วันนี้มาโดยไม่โดนยัดข้อมูล แต่เหมือนได้ประสบการณ์ตรง กระตุ้นความคิด...วิธีการอย่างนี้ความจริงเราก็ใช้อยู่
หรือเราสามารถไปทำได้กับเด็ก...มันง่ายๆ แต่พร้อมกันนั้นครูก็ได้พัฒนาตนเองเรียนรู้แบบสนุกสนาน ได้แนวความคิดกลับไปโดยไม่ต้องมานั่งจด
“เราได้ฝึกปฏิบัติไปด้วย แล้วเราก็ได้ทบทวนไปด้วยว่าความรู้ที่เรามีกับสิ่งที่เราจะกลับไปทำกับเด็กเราสามารถทำกับเด็กได้ง่ายๆ แล้วก็อาจจะสร้างกำลังใจ...แรงบันดาลใจให้ครูได้ว่าความจริงวิธีการสอนของครูก็ต้องกลับมาปรับที่ตัวเราด้วย พร้อมกันนั้นเราก็ได้วิธีการ...แนวคิดใหม่ๆ กลับไปใช้กับเด็กนักเรียน”
บางเรื่องที่ได้รู้...ได้ลองจะเป็นแรงบันดาลใจนำไปปรับใช้ได้ทันที เพียงครึ่งวันผ่านไป อ้าว...มันเกิดการเรียนรู้ แบบปิ๊งเข้ามาในสมองได้เลยว่า อ้อ...วิธีการอย่างนี้นะทำได้ ทำอย่างนี้กับเด็กได้ โดยที่เราไม่ต้องมาใส่ทฤษฎี เพราะว่าทฤษฎีครูเรียนมาเยอะแล้ว แต่ต้องการเอาประสบการณ์ตรงนำไปใช้
10 กว่าปีในอาชีพครู...สอนภาษาไทย สอนคณิตศาสตร์ สอนสังคม แม้ว่าจะมีภาระหน้าที่รับผิดชอบ แต่ประสบการณ์ชั่วโมงเรียนครูสอนคิดทำให้ได้คิดว่ามีอะไรบ้างที่จะนำไปปรับใช้กับเด็ก โดยเฉพาะการฝึกให้เขาคิด เด็กเล็กอาจจะฝึกไม่ได้อย่างตั้งเป้าแต่เราต้องค่อยๆใส่เขา ใส่เข้าไปเรื่อยๆ ทำให้คิด ตั้งคำถามปลายเปิดกับเขา
“ครูสอนคิด”...เป็นหนึ่งในกุญแจในการปฏิรูปการศึกษา ถ้าเราเริ่มนับหนึ่งถูก เป้าหมายก็คงไม่ไกลเกินเอื้อม
ขอบคุณที่มาภาพและเนื้อหาจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 21 พ.ค. 2558
Advertisement
เปิดอ่าน 9,276 ครั้ง เปิดอ่าน 38,428 ครั้ง เปิดอ่าน 15,290 ครั้ง เปิดอ่าน 13,674 ครั้ง เปิดอ่าน 12,331 ครั้ง เปิดอ่าน 9,070 ครั้ง เปิดอ่าน 29,068 ครั้ง เปิดอ่าน 71,404 ครั้ง เปิดอ่าน 11,562 ครั้ง เปิดอ่าน 79,435 ครั้ง เปิดอ่าน 11,174 ครั้ง เปิดอ่าน 20,996 ครั้ง เปิดอ่าน 9,153 ครั้ง เปิดอ่าน 23,732 ครั้ง เปิดอ่าน 15,965 ครั้ง เปิดอ่าน 9,330 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 9,340 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 12,949 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 9,588 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 16,441 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,957 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,518 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 23,732 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 14,151 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,115 ครั้ง |
เปิดอ่าน 23,292 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,865 ครั้ง |
เปิดอ่าน 35,105 ครั้ง |
|
|