"ครูคริส" อึ้ง!นักศึกษา ป.ตรี คะแนนอังกฤษ 7 เต็ม 100
“คริสโตเฟอร์ ไรท์” พิธีกรรายการสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง โพสต์สงสัยเหตุใด นศ.ระดับมหาวิทยาลัย ทำข้อสอบภาษาอังกฤษได้เพียง 7 เต็ม 100 วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2558 เวลา 13:48 น. เมื่อวันที่ 19 พ.ค. บนเครือข่ายสังคมโซเชียลมีเดีย เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับระบบการศึกษาของนักเรียนไทย หลังมีสมาชิกเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้ชื่อว่า “Chris Wright” หรือที่รู้จักกันในนาม “อ.คริสโตเฟอร์ ไรท์” ซึ่งเป็นคุณครู นักแสดง และผู้ดำเนินรายการ อิงลิช เดลิเวอรี่ (English Delivery) ได้โพสต์รูปภาพอ้างว่าเป็นข้อสอบภาษาอังกฤษระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งจากคะแนนเต็ม 100 นักศึกษาส่วนใหญ่กลับทำได้เพียง 7 คะแนนเท่านั้น ยกตัวเช่น คำว่า “island” ก็เขียนคำออกเสียงเป็น “อีส-แลนด์” ซึ่งไม่ถูกต้อง ภายหลังต่างมีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าการศึกษาของไทยน่าจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะทางด้านภาษาต่างประเทศ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางสาวอริสรา ธนาปกิจ หรือ “ครูพี่แนน” ติวเตอร์ชื่อดังจากสบานบันกวดวิชาเอ็นคอนเส็ปท์ (Enconcept E-Academy) กล่าวผ่าน “เดลินิวส์ออนไลน์” ว่า สาเหตุที่นศ.ป.ตรี มักมีคะแนนตกต่ำ เพราะว่าถ้าย้อนไปดูคะแนน O-NET ทั่วประเทศ ค่าเฉลี่ยภาษาอังกฤษทั่วประเทศต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้นหากจะทำให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษได้ดี ต้องกลับไปมองว่า ทำอย่างไรให้เด็กอยู่กับภาษาอังกฤษได้นานๆ ไม่ฉาบฉวย ซึ่งมีด้วยกัน 2 แบบ คือ ประการแรก “อยู่ด้วยความจำเป็น” ซึ่งต้องไปเรียนเมืองนอก หรือเรียนภาคอินเตอร์ ประการที่สอง “ความชอบ” ทำได้ดีเลยชอบทำ กับอีกอันคือทำได้ไม่ดี แต่เพราะสนุกมีความสุขที่ได้ทำ เลยทำให้อยากทำต่อแล้วเกิดผลดีตามมา อยากเรียนต่อไปเรื่อยๆ
มีคณบดีคณะแพทย์ท่านหนึ่งบอกว่า เด็กที่เรียนภาษาอังกฤษได้ดี โอกาสเรียนในคณะแพทย์รอดมีสูง เพราะมาเรียนจริงตำราเป็นภาษาอังกฤษ จึงเปิดรับนักเรียนแพทย์รอบพิเศษด้วยการยื่นคะแนน TOEFL เพื่อการันตีว่าเด็กใช้งานภาษาอังกฤษได้จริงๆ เด็กสายวิทย์ที่ปกติเห็นภาษาอังกฤษเป็นยาขมตื่นตัวกันมาก แล้วก็เรียนภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาทักษะฟังพูดอ่านเขียนกันเยอะมาก ดังนั้นเวลาที่เห็นคะแนนเด็กต้องกลับมาวิเคราะห์จริงๆ จังๆ ว่าเด็กขาดอะไร ขาดเป้าหมาย ขาดความชอบ และท้ายที่สุดกลับมาประเมินที่ตัวคนสอนร่วมด้วยว่า ฝั่งของครูเองขาดเทคนิคที่จะเอาความรู้ไปใส่หัวเด็กหรือเปล่า การเรียนการสอนเป็นเรื่องของครูและนักเรียนรับผิดชอบร่วมกัน เวลาไม่ประสบความสำเร็จต้องมองหาจุดแก้ไขจากทั้ง 2 ฝั่ง” ครูพี่แนน ระบุ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2558