พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการเสวนาเกี่ยวกับร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย เรื่อง “การปฏิรูประบบหลักสูตรและการเรียนการสอน” จัดโดยคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีพลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารจากกระทรวงศึกษาธิการ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการเสวนา เมื่อวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม 2558 ที่ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3
ภายหลังพิธีเปิด รมว.ศึกษาธิการได้รับฟังการเสวนาในภาคเช้า
ซึ่งมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
- การจัดตั้งสถาบันวิจัยหลักสูตรและการเรียนการสอนหรือศูนย์ฝึกอบรมครูประจำการประจำทุกจังหวัด ซึ่งเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะจากการหารือกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ผ่านมา ก็มีความเห็นสอดคล้องกันว่าเป็นหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาที่กระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตครูส่วนใหญ่ จะต้องช่วยเป็นพี่เลี้ยง ดูแล และให้ความรู้แก่ครูในช่วงเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามในการจัดตั้งสถาบันวิจัยฯ หรือศูนย์ฝึกอบรมครูประจำการประจำทุกจังหวัดนั้น กระทรวงศึกษาธิการอาจต้องใช้งบประมาณและบุคลากรเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก ดังนั้นหากยังไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ขอให้สถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคช่วยดูแลดำเนินการไปก่อน แต่ก็จะรับไปศึกษาว่าจะดำเนินการได้ในเร็ววันหรือไม่ และมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง เนื่องจากหากมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ก็ควรจะต้องมีหน่วยงานเดิมที่ไม่มีความจำเป็นหรือมีความจำเป็นน้อยถูกยุบลงไปบ้าง เพื่อเป็นการลดงบประมาณและกำลังคนให้เหลือแต่แก่นสำคัญ เพื่อช่วยในการดูแลเรื่องการเรียนการสอนในระบบการศึกษาของไทย
- การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้สั่งการให้ สทศ.ปรับลดจำนวนวิชาสำหรับการสอบ O-NET จากเดิม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ให้เหลือเพียง 5 กลุ่มสาระวิชาหลัก ซึ่งน่าจะบรรเทาความเครียดของนักเรียนลงไปได้บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าอีก 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้จะไม่จัดสอบ คือให้แต่ละโรงเรียนทำการจัดสอบในลักษณะที่ไม่ใช่ O-NET ซึ่งจะเริ่มในปีการศึกษา 2559 สำหรับการสอบ O-NET ที่เป็นแบบกากบาท เห็นด้วยว่าไม่ได้ช่วยในการวัดผล แม้แต่การเติมคำตอบเล็กน้อยนักเรียนก็ยังมีเขียนผิดบ้างถูกบ้าง หากจะไม่จัดทำข้อสอบแบบกากบาทจะทำอย่างไร ก็ต้องช่วยกันเสนอแนะเพื่อให้ตอบสนองวัตถุประสงค์ ในส่วนของข้อคิดเห็นที่ว่าการสอบ O-NET ไม่ควรใช้เป็นตัววัดผลหรือคัดเลือกเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ความจริงการสอบ O-NET ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการวัดผลและคัดเลือกผู้เรียนเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นหากไม่มีการสอบ O-NET ก็ต้องมีการพิจารณาถึงการวัดผลในรูปแบบอื่น ทั้งนี้ การสอบ O-NET มีข้อดีคือเป็นการวัดผลกลาง ซึ่งทุกโรงเรียน ทุกสถาบันการศึกษาสามารถใช้วัดผลได้เท่าเทียมกัน
- การปรับหลักสูตร สพฐ.ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว โดยได้มอบนโยบายให้โรงเรียนต่างๆ ไม่จำเป็นจะต้องยึดถือตามหลักสูตรอย่างเคร่งครัด อาจจะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการเท่านั้น แต่จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายปลายหลักสูตร เช่น นักเรียนที่จบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะต้องอ่านออกเขียนได้ ดังนั้นแต่ละโรงเรียนจะต้องไปพิจารณาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมเอง เช่น หากโรงเรียนมีนักเรียนที่เป็นเด็กชาติพันธุ์จำนวนมาก อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็อาจจะไปเพิ่มการเรียนเสริมในวิชาภาษาไทย ส่วนกลุ่มสาระอื่นที่เด็กมีความรู้อยู่แล้วก็ลดจำนวนชั่วโมง ต้องปรับให้เหมาะสม ไม่ต้องยึดติดหรือเคร่งครัดกับตัวชี้วัดหรือจำนวนชั่วโมงการสอนของแต่ละวิชา
- การพัฒนาครู รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอที่กล่าวว่า "ครูจะต้องไม่รอการสอนและการพัฒนา แต่ครูจะต้องพัฒนาตัวเอง" โดยครูจะต้องรู้ว่าควรจะต้องปรับปรุงตัวเองในเรื่องวิชาความรู้ ทักษะ แนวทางและเทคนิคการสอนอย่างไรเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้อย่างเต็มที่เท่ากันทุกคน ดังนั้นครูจะต้องมีการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา และต้องเตรียมการสอน ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาเคยเตรียมการสอนมาอย่างไรก็สอนไปอย่างนั้น นักเรียนจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ไม่ทราบ
- การปฏิรูปการศึกษาจะต้องเกิดขึ้นจากในห้องเรียน บางคนมองว่าการปฏิรูปการศึกษาจะต้องปรับโครงสร้างของกระทรวง ซึ่งความจริงเป็นเพียงส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสุดท้ายที่จะมีผลกระทบไปถึงการเรียนการสอนหรือการศึกษาของนักเรียน เพราะการปฏิรูปการศึกษาควรจะต้องเริ่มจากจุดที่เล็กที่สุดคือห้องเรียน เพราะในห้องเรียนมีนักเรียน มีครู มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่นำมาใช้ ครูมีความสำคัญ นักเรียนก็สำคัญ เพราะนักเรียนเปรียบเสมือนวัตถุดิบที่ถูกป้อนเข้ามาในระบบ ส่วนครูเปรียบเสมือนเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการผลิตวัตถุดิบเหล่านั้นให้ออกมาได้ดี อย่างไรก็ตาม นักเรียนไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่เป็นคน ครูก็เป็นคน ดังนั้นจะผลิตนักเรียนที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันทุกคนเหมือนการผลิตวัตถุสิ่งของก็คงไม่ใช่
การจะขับเคลื่อนครูในกระทรวงศึกษาธิการกว่า 6 แสนคน ไปขับเคลื่อนคนอีก 13-14 ล้านคนซึ่งก็คือนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้ได้ผลออกมามีคุณภาพตามที่ต้องการไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้ว่าครูจะสอนดีอย่างไร เชื่อว่าก็จะมีนักเรียนที่เรียนได้ไม่ดีอยู่ในห้องเรียนบ้าง เพราะว่านักเรียนเป็นคน เป็นวัตถุดิบที่อาจจะมีความแตกต่างกัน บางคนหัวดี บางคนหัวไม่ดี บางคนมีปัญหาทางบ้านทำให้เรียนได้ไม่เต็มที่ แม้กระทั่งครูที่สอนก็ไม่สามารถสอนให้ได้ผลที่เท่ากันเสมอไป ไม่เช่นนั้นนักเรียนทุกคนก็คงเก่งเท่ากันหมด
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ