ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ เดินหน้ามาเกือบถึงปลายทางแล้วซึ่งประชาชนต่างเฝ้ารอดูว่ากติกาการปกครองประเทศฉบับใหม่นี้ จะพลิกโฉมประเทศให้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการเมือง สังคม เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตความเหลื่อมล้ำในสังคม และที่สำคัญจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้หรือไม่
นอกจากนั้นด้าน "การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น" ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน โดยอยู่ในหมวด 7 ตั้งแต่มาตรา 211 ถึงมาตรา 216
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งสิ้น 7,853 แห่ง ประกอบด้วย 1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง 2) เทศบาล 2,440 แห่ง โดยแบ่งเป็นเทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 178 แห่ง เทศบาลตำบล 2,232 แห่ง 3) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,335 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) 2 แห่ง
"วัลลภ พริ้งพงษ์" อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย อธิบายว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีการบัญญัติเรื่องการปกครองท้องถิ่น โดยมีบทบัญญัติทั้งหมด 9 มาตรา รัฐธรรมนูญปี 2550 มีบทบัญญัติ 10 มาตรา ส่วนรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้ จะมีบทบัญญัติน้อยลงแต่จะมีอำนาจหน้าที่ท้องถิ่นมากขึ้น และมีการเปลี่ยนชื่อจาก "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" เป็น "องค์กรบริหารท้องถิ่น"
ทั้งนี้จะกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ขอบเขตและขั้นตอนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้ได้กำหนดหน้าที่การทำงานของท้องถิ่นอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งการยกฐานะของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นให้ทัดเทียมกับข้าราชการในส่วนอื่น ๆ
"เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง" นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะพลิกโฉมท้องถิ่นไทย คือ การให้อำนาจท้องถิ่นในการบริหารมากขึ้น โดยจะยึดโมเดลการบริหารงานของประเทศญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการบริหารงานท้องถิ่นซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่จะยุบองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) ทั้งหมดทั่วประเทศ และยกฐานะเป็นเทศบาล และจะรวม อบต.ขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กันรวมเป็นเทศบาล อีกทั้งยังจะยุบเทศบาลขนาดเล็กที่อยู่ใกล้กันรวมเป็น 1 เทศบาล ซึ่งโมเดลดังกล่าวญี่ปุ่นใช้มานานแล้วประสบผลสำเร็จดีมาก
"ข้อดีของโมเดลนี้คือ บริหารจัดการได้อย่างรวดเร็ว สามารถบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รัฐบาลจัดสรรงบประมาณได้เร็วขึ้นและทั่วถึง หากได้รับการจัดสรรงบประมาณที่เร็วขึ้น จะสนองความเดือดร้อนของประชาชนได้ ทำให้การเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์เร็วขึ้น เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ การช่วยเหลือผู้สูงวัย ศูนย์เด็กเล่น เป็นต้น รวมทั้งสามารถตรวจสอบนักการเมืองท้องถิ่นที่ทุจริตคอร์รัปชั่นได้"
สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะยุบ อบต.หรือเทศบาลไหนรวมกันนั้น จะดูจากจำนวนประชากร รายได้ประชากร โครงสร้างสังคม ลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นหลัก
นอกจากนั้นจะให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษีมากขึ้น เช่น เพิ่มเปอร์เซ็นต์การจัดเก็บภาษีให้ ทั้งภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน อากรฆ่าสัตว์ และมอบอำนาจให้จัดเก็บภาษีใหม่ เช่น ภาษีขยะ ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้ที่จะนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพชีวิต
เกรียงไกรบอกว่า ปัจจุบันท้องถิ่นมักจะคาดหวังเงินที่ได้รับการจัดสรรให้จากรัฐบาลอย่างเดียว หากงบประมาณไม่มา โครงการต่าง ๆ ก็ไม่เดินแต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะให้อำนาจท้องถิ่นเต็มที่ ให้หาเงินได้ด้วยตัวเองด้วยการจัดเก็บภาษี เช่น ทุกวันนี้กลุ่มโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในท้องถิ่น แต่ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้แม้แต่บาทเดียว เพราะอ้างว่าเสียภาษีที่ส่วนกลาง แต่ในทางกลับกันกลุ่มทุนขนาดใหญ่เหล่านั้นเข้ามา ทำให้สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเสียหาย ดังนั้นจะต้องให้เสียภาษีที่ท้องถิ่นด้วย
"ประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์" ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) และนายกเทศมนตรีเมืองพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ กฎหมายท้องถิ่นบางฉบับจะบรรจุไว้ที่กฎหมายลูก จึงเสนอให้กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะบรรจุลงสู่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก โดยให้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับมากที่สุด
ดังนั้นต้องจับตาดูว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะพลิกโฉมท้องถิ่น และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน อย่างไร
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 พฤษภาคม 2558