เปิดกรุ 100เก้าอี้ ประยุทธ์ใช้ม.44 รับขรก.ขี้ฉ้อ เชือดล็อตแรก 45ราย
“ประยุทธ์” ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เด็ดปีกข้าราชการทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นพัวพันทุจริต ออกคำสั่ง 16/2558 เปิดกรุ 100 เก้าอี้ในสำนักนายกฯ รองรับ เชือดไก่ล็อตแรก 45 ราย “ปลัดท่องเที่ยวฯ-อธิบดีกรมพลศึกษา-ผู้ว่าฯ อุดรธานี” ไม่รอด พ่วงนายกฯ อบต.อีกพะเรอเกวียน สตง.คาดกรณีงาบยาปราบศัตรูพืช เชื่อสัปดาห์หน้ามีอีกรอบ
เมื่อค่ำวันศุกร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2558 เรื่องมาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 112 ง ลงวันที่ 15 พ.ค. และมีผลบังคับใช้แล้ว
โดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2558 มีเนื้อหาระบุว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐหลายรายอยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.),สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีเป็นเรื่องกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ทำให้เสียหายแก่ทางราชการ หรือทำให้ประชาชนเดือดร้อน แม้ผลการตรวจสอบยังไม่อาจสรุปความผิดได้ชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิด แต่บางเรื่องมีการกระทำเป็นขบวนการ การตรวจสอบจึงใช้เวลานานและบางเรื่องไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องเท่าที่ควรดังที่หน่วยงานตรวจสอบดังกล่าวได้แจ้งให้ คสช.และรัฐบาลทราบมาเป็นลำดับ จึงเห็นควรกำหนดมาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบดังกล่าวและกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเพื่อรองรับมาตรการนั้น จึงมีคำสั่งดังนี้
ข้อ 1 ให้มีกรอบอัตรากำลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสำนักนายกรัฐมนตรีจำนวน 100 อัตรา เพื่อรองรับการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลตามข้อ 2 และตามบัญชีรายชื่อเพิ่มเติมในข้อ 5 หรือบุคคลที่ ครม.หรือผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจบรรจุและแต่งตั้งแล้วแต่กรณีเห็นสมควรให้ขาดจากตำแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิมเพื่อย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่เป็นอัตรากำลังชั่วคราวดังกล่าว ซึ่งการย้ายหรือโอนบุคคลไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่เป็นอัตรากำลังชั่วคราวให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งกรณีนี้ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ร่วมกันกำหนดชื่อตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบ และสิทธิประโยชน์ของบุคคลดังกล่าวโดยอนุโลมตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
“ครม.อาจให้ความเห็นชอบให้แต่งตั้งผู้ซึ่งไม่ได้อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบ ไม่ได้มีความผิดและมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติราชการให้ไปดำรงตำแหน่งที่เป็นอัตรากำลังชั่วคราวในตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษ หรือผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกฯ ซึ่งมีฐานะและสิทธิประโยชน์เทียบเท่าตำแหน่งเดิม มีหน้าที่รับผิดชอบการปฏิรูปราชการแผ่นดินตามที่นายกฯ และในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ดำรงตำแหน่งที่เป็นอัตรากำลังชั่วคราวไม่มีเหตุถูกตรวจสอบหรือไม่จำเป็นต้องดำรงตำแหน่งที่เป็นอัตรากำลังชั่วคราวต่อไป และผู้นั้นยังไม่ออกจากราชการ ให้นายกฯ แต่งตั้งผู้นั้นไปดำรงตำแหน่งตามเดิมหรือตำแหน่งอื่นในประเภทเดียวกันและระดับเดียวกัน และให้สำนักงบประมาณจัดงบประมาณแก่สำนักนายกฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย”
ข้อ 2 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการจำนวน 24 ราย และกลุ่มที่ 2 หน่วยงานอื่นของรัฐ 1 ราย ระงับการปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราวและไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งประจำสำนักงานปลัดกระทรวงในกระทรวงที่สังกัดโดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดมอบหมาย ทั้งนี้ นายกฯ จะมีคำสั่งให้ผู้นั้นไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นการชั่วคราวก็ได้
รายชื่อถูก ม.44 เชือด
สำหรับรายชื่อของกลุ่ม 1 นั้น ประกอบด้วย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 4 ราย คือ 1.นายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวง 2.ว่าที่ ร.ต.อานุภาพ เกษรสุวรรณ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว 3.นายพัฒนาชาติ กฤติบวร อธิบดีกรมพลศึกษา และ 4.นายนิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ รองอธิบดีกรมพลศึกษา กระทรวงการคลัง 6 รายคือ 1.นายสาธิต รังคศิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง 2.นายราฆพ ศรีศุภอรรถ ผู้ตรวจราชการกระทรวง 3.นายป้อมเพชร วิทยารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำภาค 7 4.นายศุภกิจ ริยะการ หรือนายสิริพงษ์ ริยะการธีรโชติ สรรพากรพื้นที่นราธิวาส จ.นราธิวาส 5.นายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่ปัตตานี จ.ปัตตานี 6.นายมานิตย์ พลรัตน์ สรรพากรอำเภอ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเมืองตาก จ.ตาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 ราย คือ นายปัญญา ศิลปะ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา และนายอุดร ชมาฤกษ์ เกษตรจังหวัดอุบลราชธานี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 ราย คือ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง
กระทรวงมหาดไทย 10 ราย 1.นายแก่นเพชร ช่วงรังษี รองปลัดกระทรวง 2.นายกิตติภพ ตราชูวณิช ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง 3.นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี 4.นายเวชสุวรรณ อาจวิชัย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.มุกดาหาร 5.นายนิรันดร์ บุญสิงห์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สุรินทร์ 6.นายพรต ภูภักดิ์ นายอำเภอเชียงยืน จ.มหาสารคาม 7.นายภัลลพ พิลา นายอำเภอเมืองสระบุรี จ.สระบุรี 8.นายสมภพ ร่วมญาติ นายอำเภอโนนสะอาด จ.อุดรธานี 9.นายอรรณพ อกอุ่น นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี 10.นายวีรชาติ ผ่องโชติ นายอำเภอตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 ราย คือ พล.ต.ท.สุรพล ทวนทอง จเรตำรวจ ส่วนกลุ่ม 2 คือ นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ สำนักงาน กสทช.
ข้อ 3 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 3 ซึ่งประกอบด้วย นายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)จำนวน 14 ราย และกลุ่มที่ 4 นายกเทศมนตรี 3 รายระงับการปฏิบัติราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนจนกว่านายกฯ จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งประกอบด้วย 1.นายชาติ กันล้อม นายก อบต.ท่าตำหนัก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม 2.นายเดชาวุธ เสนยะ นายก อบต.น้ำตก อ.นาน้อย จ.น่าน 3.นายสนธยา มีสถิตย์ นายก อบต.ลำเลียง อ.กระบุรี จ.ระนอง 4.นายมนตรี ถ้ำเล็บมือ นายก อบต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ 5.นายสริภพ ภูนิสัย นายก อบต.ทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี 6.นายวรวุฒิ ยิ้มจันทร์ รองนายก อบต.ทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี 7.นายประทีป ยั่งยืน นายก อบต.บางเมือง อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ 8.นายภัทรพล จำปารัตน์ นายก อบต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 9.นายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 10.นายมนตรี บุญสุยา นายก อบต.แกใหญ่ อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ 11.นายสมภาร เคนหาญ นายก อบต.กุดจิก อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู 12.นายทนงทรัพย์ ถนอมจิตต์ นายก อบต.ตำบลจิกเทิง อ.ตาลสุม จ.อุบลราชธานี 13.นายสุวรรณ เมฆบุตร นายก อบต.คันไร่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี 14.นายวงศ์พิสุทธิ์ ดำรงค์สิทธิ์ นายก อบต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ส่วนกลุ่มที่ 4 น.ส.สุนี ปูนกลาง นายกเทศมนตรีตำบลใหม่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา 2.นายปัญญา เขียวธง นายกเทศมนตรีตำบลต้นธง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน 3.นายรัชนาท ภูผินผา นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งฝน อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี
ย้ายเข้ากรุศาลากลาง
ข้อ 4 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 5 ซึ่งคือ ปลัดและรองปลัด อปท. 3 ราย ไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดที่ อปท.นั้นตั้งอยู่ หรือสถานที่ราชการอื่นตามที่ผู้ว่าฯ จังหวัดกำหนด แต่ต้องมิใช่ อปท.ที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ต้องมีคำร้องขอ และให้ผู้ว่าฯ หรือผู้ที่ผู้ว่าฯ มอบหมายเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจมอบหมายให้ผู้นั้นปฏิบัติงานตามความเหมาะสมจนกว่านายกฯ จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งกรณีนี้มิให้บุคคลดังกล่าวได้รับเงินประจำตำแหน่งและสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการชั่วคราว ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พ.ศ.2555 ซึ่งประกอบด้วย 1.น.ส.มณีรัตน์ ดวงกุณา ปลัด อบต.ตำบลหนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ 2.นายฟ้าใส เสนาธรรม หรือนายชยพล เสนาธรรม ปลัดเทศบาลตำบลบ้านแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ 3.นายนพคุณ พรหมพุทธา รองปลัดเทศบาลตำบลต้นธง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน
และข้อ 5 หัวหน้า คสช.อาจประกาศบัญชีรายชื่อบุคคลเพิ่มเติมจากรายชื่อตามบัญชีนี้ก็ได้ และ ข้อ 6 ในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ให้สำนักงาน ก.พ. หรือกระทรวงมหาดไทยแล้วแต่กรณีเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขให้นายกฯ วินิจฉัย ซึ่งคำวินิจฉัยของนายกฯ ให้เป็นที่สุด
แหล่งข่าวจาก สตง.กล่าวว่า รายชื่อข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่ถูกคำสั่งพักราชการดังกล่าว ตรงกับรายชื่อที่ สตง.ส่งไปให้คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน และมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรมรับผิดชอบ โดยรายชื่อหลายคนรวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นตรงกับข้อมูลของ ป.ป.ท. คือมีความผิดปกติในงบการจัดซื้อยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลงของหลายจังหวัดทั่วประเทศที่เป็นงบท้องถิ่น โดยเฉพาะใน 16 จังหวัดภาคอีสาน เช่น จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร และบึงกาฬ
ทั้งนี้ นายแก่นเพชร รองปลัดฯ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นรองปลัดฯ เคยเป็นอดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมาก่อน รวมถึงอดีตผู้ว่าฯ จ.อุดรธานี และอำนาจเจริญ
“ในสัปดาห์หน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ป.ป.ท. สตง.และหน่วยตรวจสอบอื่นๆ จะส่งรายชื่อข้าราชการไปให้นายกฯ พิจารณาปรับย้ายอีกเป็นล็อตที่สอง ซึ่งเวลานี้กำลังจัดทำบัญชีรายชื่อกันอยู่ คาดว่าจะส่งให้นายกฯ ได้ไม่เกินสัปดาห์หน้านี้” แหล่งข่าวจาก สตง.ระบุ.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 16 พฤษภาคม 2558