โดย...อินทรชัย พาณิชกุล
เสียงงอแงแสบแก้วหู บ้างวิ่งพล่านกระโดดโลดเต้น บ้างหยิบฉวยขว้างปาข้าวของกระจัดกระจายไปทั่ว เป็นพฤติกรรมของเด็กๆที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร ยันฟุตบาทริมถนน
ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเกิดจากความไร้เดียงสา หรือการปล่อยปะละเลยของพ่อแม่ผู้ปกครอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจแก่คนรอบข้างอยู่ไม่น้อย
เมื่อลูกเราไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน
ไม่นานนี้ เครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่ภาพเด็กชายตัวกระเปี๊ยกสองคนปีนป่ายขึ้นโต๊ะอาหาร พลางตั้งท่าเล่นปล่อยพลังกันอย่างครึกครื้น โดยผู้ใหญ่ที่มาด้วยนั่งกินข้าวหน้าตาเฉย ไม่คิดจะห้ามปราม ภาพดังกล่าวได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจนเกิดกระแสต่อต้านผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อ "ลูกคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน" ตีแผ่พฤติกรรมไม่เหมาะสมของเด็กบางคนที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่คนอื่นในที่สาธารณะ โดยพุ่งเป้าไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่ยอมว่ากล่าวตักเตือนลูก
ทุกเหตุการณ์ยากที่จะปฏิเสธว่าเกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่กรีดร้องโวยวายในโรงหนัง เขวี้ยงปาข้าวของจนเลอะเทอะในร้านอาหาร กระโดดเล่นบนเตียงสินค้าที่วางโชว์ เปิดม่านเล่นในห้องลองชุด แกะถุงขนมกินกันเอร็ดอร่อยในซูเปอร์มาร์เก็ต เล่นต่อสู้กันเลยเถิดไปโดนคนอื่นได้รับบาดเจ็บหรือข้าวของแตกเสียหาย
พญ.นลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รพ.มนารมย์ อธิบายว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่ในอดีตไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์กจึงไม่มีเสียงสะท้อนตอบรับกลับมาอย่างรวดเร็วเหมือนสมัยนี้
"เด็กแต่ละคนมีความซุกซนแตกต่างกัน บางคนสอนยาก บางคนสอนง่าย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ เด็กธรรมดาทั่วไป โดยพื้นฐานแล้วพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกๆมีกิริยามารยาทเรียบร้อยต่อหน้าผู้อื่น แต่บางคนไม่รู้จะรับมืออย่างไรเวลาที่ลูกปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องเหมาะสมเวลาอยู่นอกบ้าน อีกกลุ่มคือ เด็กพิเศษ พวกนี้เวลาออกนอกบ้านอาจควบคุมได้ยากกว่าเด็กทั่วไป เช่น ชอบวิ่งวุ่นวายไปทั่ว หยิบจับขว้างปาข้าวของ ร้องไห้งอแง ปีนป่ายกระโดดโลดเต้น จึงเป็นภาระหนักของพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งบางครั้งอาจเกินกว่าจะรับมือไหวจนพลั้งเผลอหลุดหูหลุดตาไป มองในแง่ดี การมีเสียงสะท้อนจากคนในสังคมแบบนี้ ถือเป็นการกระตุกเตือนให้พ่อแม่รู้สึกตัวว่าควรหันมาใส่ใจดูแลสั่งสอนลูกหลานเกี่ยวกับเรื่องมารยาทในสังคม เพราะหน้าที่ของพ่อแม่ไม่ใช่เพียงแต่เลี้ยงดูลูกให้เติบโตแข็งแรง มีการศึกษาที่ดี มีความสุข แต่ต้องปลูกฝังเรื่องกิริยามารยาทด้วย"
พ่อแม่ไม่สั่งสอนจริงหรือ?
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกระหึ่มไปทั่วโลกโซเชียล บ้างก็ว่าเป็นความซุกซนตามธรรมชาติของเด็ก ไม่ควรถือสาหาความ อีกฝ่ายมองว่าผู้มีส่วนทำให้เทพบุตรตัวน้อยกลายเป็นปีศาจจอมกวนก็คือ พ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่สนใจตักเตือนลูกหลานตัวเอง
พรภัทร์ บาเรลลี่ แม่บ้านลูกหนึ่ง มองว่า พ่อแม่ยุคนี้ชอบสปอยล์ลูก ทั้งที่ลูกทำตัวไม่น่ารัก แต่ก็ไม่เคยคิดตักเตือนหรือลงโทษ หนำซ้ำยังให้ท้ายอีกต่างหาก
"อย่าลืมว่าเวลาออกนอกบ้าน เรากำลังอยู่ร่วมกันกับคนอีกจำนวนมากในสังคม และไม่ใช่ทุกคนที่รักเด็ก ในฐานะแม่คนหนึ่งคิดว่าเพจนี้มีประโยชน์มากๆสำหรับคนเป็นพ่อแม่ เพราะทำให้ได้รู้ว่าคนในสังคมเขาคิดอย่างไรต่อพฤติกรรมไม่น่ารักของเด็กที่ผู้ปกครองปล่อยปะละเลย ไม่ตักเตือน ไม่สั่งสอน จนไปละเมิดสิทธิ์ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้คนอื่น ทุกวันนี้เวลาจะออกไปไหน จะเตรียมพร้อมรับมืออย่างเต็มที่ พกขนมพกของเล่นที่ลูกชอบ พอเขาเริ่มงอแงก็เอาออกมาดึงความสนใจ ถ้าเอาไม่อยู่จริงๆจะใช้วิธีอุ้มไปเดินเล่น เปลี่ยนบรรยากาศ สุดท้ายก็ดีขึ้น ขอฝากไปยังคนในสังคมว่าให้ใจเย็นกันสักนิด อยากให้เข้าใจธรรมชาติของเด็กด้วย ถ้าเกินจะทนจริงๆก็ควรใช้วิธีตักเตือนพ่อแม่อย่างสุภาพ แต่ปัญหาก็คือ พ่อแม่บางคนมีทิฐิแรง ไม่ยอมรับผิด โอ๋ลูก ใครจะมาดุด่าไม่ได้ อาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง"
สุพัตรา สุวรรณบุปผา คุณแม่ลูกสอง เล่าว่า ที่ผ่านมาใช้วิธีให้ลูกโตถึงวัยที่เหมาะสมก่อนพาไปเที่ยวนอกบ้าน เพื่อจะได้ไม่สร้างปัญหาแก่ผู้อื่น และทุกครั้งที่ออกจากบ้านจะกำชับเสมอว่าจะไปไหน พบเจอใคร ต้องทำตัวอย่างไรบ้าง
"ทุกครั้งเวลาจะพาไปเที่ยวห้าง ก่อนออกจากบ้านจะคุยกับลูกก่อนว่าห้ามวิ่งเล่นเอะอะเสียงดังรบกวนคนอื่น หรือไปไกลจากสายตาแม่ ถ้าไม่เชื่อฟัง ก็จะส่งสายตาดุๆ หรือไม่ก็พูดตักเตือนเขาด้วยน้ำเสียงจริงจัง หน้านิ่งๆ ไม่ตะคอก ไม่ตี ที่สำคัญเมื่อเขาทำผิด ต้องหัดให้เขารู้จักที่จะขอโทษทุกครั้ง"
เคล็ดลับดูแลลูกน้อยไม่ให้ออกลาย
ต่อไปนี้คือคำแนะนำที่น่าสนใจของ พญ.นลินี กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รพ.มนารมย์
"พ่อแม่ควรฝึกฝนและเรียนรู้เรื่องการดูแลลูกในการออกสู่สังคม ถ้าเป็นเด็กเล็ก อายุ 1-6 ขวบ พ่อแม่ควรสลับหมุนเวียนกันดูแล หรือบางทีก็อาจใช้อุปกรณ์ช่วยด้วย เช่น เป้จูงเด็ก สำหรับเด็กโต อายุ 6-12 ขวบ ควรตั้งกฎกฎิกาก่อนออกจากบ้านว่าอันไหนควรทำ อันไหนไม่ควรทำ เมื่ออยู่ในที่สาธารณะก็หมั่นสังเกตภาษากายของคนรอบข้าง เนื่องจากปฏิกิริยาแรกที่บ่งชี้ว่าไม่พอใจจะมาจากการส่งสัญญาณผ่านสีหน้า แววตา ท่าทาง ขณะเดียวกัน คนในสังคมก็ไม่ควรใช้วิธีตำหนิติติงด้วยถ้อยคำรุนแรง อาจรอจังหวะในการใช้วิธีส่งสัญญาณให้พ่อแม่เด็ก หรือเด็กได้รู้ตัว พึงนึกถึงใจเขาใจเราว่าบางครั้งพ่อแม่เด็กอาจไม่ทันระวังตัว หรือพลั้งเผลอก็ได้ สุดท้ายหากจำเป็นต้องตักเตือนเด็ก ควรตักเตือนด้วยประโยคสั้นๆเด็ดขาด ไม่ใช้อารมณ์"
วรารักษ์ สู่โนนทอง นักเขียนชื่อดัง เธอบอกว่า พ่อแม่ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก เพราะเด็กจะไม่เรียนรู้จากคำบอก หรือคำสั่ง แต่จะเรียนรู้และจดจำจากการปฏิบัติตัวของพ่อแม่
"สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่"ทำตัว"อย่างไร ไม่ใช่พ่อแม่"เลี้ยงลูก"อย่างไร" เพราะลูกจะซึมซับพฤติกรรมของพ่อแม่นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก ทุกสิ่งทุกอย่างจะฝังลงไปในตัวเด็ก ฉะนั้นถ้าพ่อแม่ทำกิริยาไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ ลูกซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะแยกแยะว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด ก็จะคิดว่าแบบนั้นสามารถทำได้"
ไม่ว่าจะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก หรือการละเลยมองข้ามของผู้ใหญ่ บางครั้งลูกของเราอาจแสดงพฤติกรรมที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้ผู้อื่นอย่างไม่ตั้งใจ คงหนีไม่พ้นพ่อแม่ที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ตักเตือน ขอโทษ และอบรมสั่งสอนลูกน้อยให้ถูกต้องต่อไป
ขอบคุณที่มาจาก โพสต์ทูเดย์ 11 พฤษภาคม 2558