ข้อมูลจากรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ในช่วง Special Report ได้รายงานเรื่อง “เตือนภัยประกันภัย” ซึ่งเป็นเรื่องของการทำประกันสัญญาเงินกู้เงิน ช.พ.ค. ของครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยผู้ดำเนินรายการได้แสดงตัวอย่างสำเนากรมธรรม์ประกันภัยที่ก่อนหน้านี้ครูส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นการทำประกันวงเงินหรือสินเชื่อ แต่เมื่อครูคนหนึ่ง ไปขอมาก็ปรากฏว่า เป็นเพียงประกันอุบัติเหตุและสุขภาพเท่านั้น รายละเอียดของการคุ้มครองเป็นอย่างไร ครูบ้านนอก ขอเรียบเรียงมาให้อ่านกันดังนี้ครับ
นายสงกานต์ อัจริยทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่ปรึกษากฏหมายให้กับครู ที่ได้รับผลกระทบจากการทำสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่าตนได้ร้องขอความช่วยเหลือ พร้อมทั้งส่งสำเนาสัญญาเงินกู้ไปยังตู้ ปณ 63 ซึ่งก็ปรากฏว่า มีครูจำนวนมาก ได้ส่งคำร้องมาพร้อมกับปัญหาหลังจากที่ไปกู้ยืมเงิน ช.พ.ค.กับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. และถูกบังคับให้ทำประกันโดยครูส่วนใหญ่เข้าใจว่า เป็นการคุ้มครองเงินกู้ แต่กลับเป็นทำประกันอุบัติเหตุแบบกลุ่มใหญ่เท่านั้น
นายสงกานต์ กล่าวต่อว่า ได้เปิดตู้ปณ 63 ให้ครูทั่วประเทศได้ส่งพยาน เอกสาร หลักฐาน เกี่ยวกับเรื่องของสัญญากู้ ช.พ.ค. ซึ่งขณะนี้กำลังมีปัญหาว่าครูผู้กู้ทั่วประเทศไม่เคยได้กรมธรรม์เลย จากผู้ประกอบการที่ให้สินเชื่อ โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้แจ้งครูทั่วประเทศว่าเป็นประกันสินเชื่อ หรือประกันเงินกู้ แต่ต่อมาครูเกิดความเคลือบแคลงสัย และอยากรู้ว่า ทำไมผู้ประกอบการหรือผู้ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐจึงไม่ให้กรมธรรม์แก่คู่สัญญา
ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้กู้ได้ไปติดตามถามคู่สัญญา กลับได้รับการยืนยันมาตลอดว่า เบี้ยประกันที่เก็บล่วงหน้าไป 9 ปี เป็นการคุ้มครองสินเชื่อ ที่เป็นเงื่อนไขผูกพันตามเงื่อนไขการกู้เงิน ช.พ.ค. ที่ทางสถาบันการเงินแห่งนี้เป็นผู้ให้กู้ จนทางเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ตรวจสอบพบว่า เป็นการประกันอุบัติเหตุบวกโรคร้ายแรงไม่ได้เป็นการคุ้มครองสินเชื่อ ทำให้ความจริงเรื่องนี้ถูกเปิดเผย
ต่อมาผู้กู้ส่วนหนึ่ง ไปติดตามทวงถามสัญญาคุ้มครองกับทางสถาบันการเงินดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนวันที่ 11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผู้กู้รายหนึ่งก็ได้รับใบรับรองประกันภัยมาเป็นหลักฐาน ซึ่งใบรับรองดังกล่าวได้ระบุว่าเป็นกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ (สินเชื่อปลอดภัย) ซึ่งผู้กู้ ได้กู้เงินจำนวน 2,700,000 บาท เสียเบี้ยประกันภัยเป็นเงิน 167,670 บาท ระยะเวลาคุ้มครอง 9 ปี จากสัญญากู้ยืมเงิน 30 ปี ในช่องผู้รับผลประโยชน์คือ สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ ช.พ.ค. และภรรยา ซึ่งเมื่อคำนวณเบี้ยประกันรายปีแล้ว เฉลี่ยปีละ 18,630 บาท
แต่ที่น่าสนใจและเป็นประเด็นถัดมาที่ผู้สื่อข่าวให้ข้อสังเกตุ คือ ข้อยกเว้นในการจ่ายค่าสินไหม ซึ่ง ระบุไว้ ดังภาพด้านล่าง
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังพบว่ามีครูจำนวนหนึ่งได้ถูกทางสถาบันการเงินฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย เนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแล้ว
เรื่องนี้ จะมีข้อสรุปอย่างไร โปรดติดตามอย่างต่อเนื่องครับ
- ครูบ้านนอกดอทคอม เรียบเรียงจาก รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ช่วง Special Report