กลุ่มครูหนี้วิกฤต ตบเท้าเข้าพบ ปลัด ศธ. วอนติดตามช่วยสางหนี้เงินกู้กองทุนหมุนเวียนของ ก.ค.ศ. และหนี้ ช.พ.ค. รวมถึงเยียวยากรณีถูกหลอกทำประกัน ระบุมีครูหลงกลลงทุนไปเกือบ 2 แสนคน “กำจร” เผยครูอ้างที่เซ็นสัญญาโดยไม่อ่านเพราะหลงเชื่อผู้มาเสนอโครงการจึงคิดว่าไม่เกิดปัญหา ระบุการแก้ปัญหาต้องยืมมือ คปถ.และสภาทนายความเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมเตรียมชงมาตรการแก้ไขและบรรเทาปัญหาหนี้สินเข้า ครม. โดยกำหนดมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
วันนี้ (12 พ.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นหนี้สินวิกฤต กว่า 50 คน ได้ยื่นแถลงการณ์ข้อเรียกร้องพร้อมข้อเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่วิกฤตเร่งด่วน ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทาง รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. โดย รศ.นพ.กำจร กล่าวภายหลัง ว่า กล่มครูฯที่มาติดตามเรื่องหนี้สินครูซึ่งได้เคยร้องเรียนต่อนายกฯมาแล้ว รวมถึงกรณีถูกหลอกจนเกิดความเข้าใจไม่ถูกต้องโดยเฉพาะเรื่องการประกันภัย ซึ่งเป็นเงื่อนไขในการกู้โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งในเรื่องหนี้สินครูนั้นนายกฯ มีบัญชาที่จะให้ความช่วยเหลือจึงมาติดตามการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ คณะทำงานของนายกฯได้ประสานมายังตนให้ช่วยดูแล โดยตนได้ชี้แจงไปว่าขณะนี้ ศธ.กำลังดำเนินการอยู่โดยบางเรื่องจะต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นมาตรการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน อาทิ การพักหนี้ การหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่มีเงื่อนไขว่าต้องไปทดแทนหนี้เดิมไม่ใช่การสร้างหนี้ใหม่
อย่างไรก็ตาม กรณีการประกันภัยที่เป็นปัญหาอย่างมากเนื่องจากมีผู้ลงทุนเกือบ 2 แสนคน อาจจะต้องหารือกับหน่วยงานของรัฐรวมทั้งขอความเห็นใจจากหน่วยงานที่รับเงิน ไป ให้ช่วยพิจารณาหากผู้เอาประกันไม่มีความประสงค์หรือเข้าใจผิด ก็ต้องหาทางเยียวยาหรือเวนคืนไปบ้างเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เพราะหากเป็นการเข้าร่วมโดยการถูกหลอกก็ต้องเห็นใจ แต่ถ้าบริษัทผู้รับประกันไม่ได้เป็นผู้หลอกเองแต่เป็นการเข้าใจผิดก็ต้องดู ว่ามีทางออกอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) และสภาทนายความเข้าไปช่วยเหลือ
“เรื่องที่ครูรู้สึกคับแค้นใจมากก็คือเวลามีการตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเซ็นทำสัญญาไปโดยไม่อ่านรายละเอียด ซึ่งครูก็บอกว่าเพราะผู้ที่มานำเสนอโครงการเป็นคนที่น่าเชื่อถือ และเมื่อเห็นว่ามีครูอาวุโสเซ็นก็เลยเชื่อว่าน่าจะปลอดภัยก็เซ็นตามๆกันไปโดยไม่ได้ดูรายละเอียดจึงถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นในทุกสังคม อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าหากยึดเอาตามลายลักษณ์อักษรในสัญญาคงได้คืนลำบากยจำเป็นต้องอาศัย คปภ.และสภาทนายความช่วยดูแล สำหรับเรื่องหนี้สินครู ในส่วนที่มาจากกองทุหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)ดูแลอยู่นั้น ผมก็รับปากว่าจะรีบเข้าไปพิจารณาหากอยู่ในอำนาจที่ปลัด ศธ.สามารถอนุมัติได้ก็จะรีบดำเนินการให้ ส่วนที่กู้จากโครงการกู้เงิน ช.พ.ค.และกองทุนพัฒนาชีวิตครูของ สกสค.นั้นเวลานี้ยังโกลาหลอยู่ เพราะมีปัญหาความไม่ชอบมาพากลของทรัพย์สิน การได้มาซึ่งทรัพย์สิน และเงินที่ได้จากดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งต้องมีการแจกแจงให้ถูกต้องเสียก่อน หากอะไรที่ได้มาโดยมิชอบก็จะคืนให้สมาชิก ซึ่งมีข้อร้องเรียนว่ามีการจ่ายเงิน ช.พ.ค.ล่วงหน้าที่ไม่เคยปฏิบัติในหน่วยงานอื่น หากพิจารณาแล้วไม่เป็นไปตามลักษณะที่ควรจะเป็นก็ต้องคืนให้กับครูไป เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนของครูไปก่อน ส่วนกรณีครูเสียชีวิตแล้วยังไม่ได้รับเงิน ช.พ.ค.ก็ต้องกลับไปตรวจสอบว่ามีรายอื่นอีกหรือไม่ และเป็นความบพร่องของใครเพื่อจะได้แก้ไข”รศ.นพ.กำจร กล่าว
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 พฤษภาคม 2558