ขณะนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ได้ทำการเปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมไปถึงหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ซึ่งล่าสุดก็มีหลายๆ สถาบันได้เปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรประกาศนีบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู สำหรับบุคคลที่ไม่ได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีสาขาวิชาชีพครู แต่ได้ปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา และมีรายชื่อที่ต้นสังกัดส่งข้อมูลการรับรองฯ ไปยังหน่วยงานระดับกรมฯ เพื่อรับรองว่าเป็นผู้มีสิทธิสมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรดังกล่าวบ้างแล้ว
เนื่องจากล่าสุดได้มีบุคคลที่สนใจ แต่ไม่มีคุณสมบัติเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรดังกล่าว สนใจและเดินทางไปสมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องการสมัครเรียน ป.บัณฑิต วิชาชีพครูอยู่บ้าง ครูบ้านนอกดอทคอม ได้ติดตามสถานการณ์ในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และได้รับการชี้แจงจากการสัมภาษณ์และโพสต์ของแอดมินเพจ Mask No Real Somkamol ที่โพสต์ให้ข้อมูล ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู และเป็นผู้ที่สามารถให้ข้อมูลในเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน ดังนี้ครับ
10 พฤษภาคม 2558
เห็นหลายคนไปสมัครสอบเข้าเรียน ป.บัณฑิตขณะนี้
ครั้นแอดมินจะบอกว่า อย่าเพิ่งไป วันหน้า เกิดได้สิทธิ์กันขึ้นมาจะมาโทษแอดมินว่าไม่ให้ไปสมัครอีก
เอาเป็นว่า แอดมินให้ข้อมูล แล้วท่านตัดสินใจกันเองนะคะ
1 คุรุสภายังไม่ได้ประกาศรับรองรายชื่อสถาบันผลิตที่หน้าเว็บไซต์ แต่อนุญาตให้โทรไปถามที่สำนักมาตรฐานวิชาชีพได้ 02 304 9899 ในวันและเวลาราชการ
2 คุรุสภายังไม่ได้ประกาศรับรองโครงการของต้นสังกัดใดที่หน้าเว็บไซต์ (กระบวนการสำรวจรายชื่อครูอยู่ที่โครงการก่อนส่งคุรุสภา เป็นเรื่องของต้นสังกัดทำเอง )
3 หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ที่จะใช้สมัครเข้าเรียน มีกำหนดวันเดือนปี คุรุสภายังไม่มีประกาศ แต่มีความเข้าใจแพร่หลายกันแล้วว่าอนุญาตไม่เกินวันที่ 19 มีนาคม 2558
4 ผู้มีสิทธิ์เรียน คือ ครูผู้สอน ที่ถือหนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ตามกำหนดเวลาที่คุรุสภากำหนด และมีรายชื่อจากต้นสังกัด
5 ท่านที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอยู่แล้ว เรียนได้หรือไม่ เรียนได้ค่ะ
6 ท่านรู้ว่าท่านไม่มีคุณสมบัติในการเรียน ก็อย่าหลงเชื่อใครที่บอกว่าสมัครได้มาสมัครได้เลย แล้วจะดูแลให้ โดยที่เขาจะสร้างเอกสารให้ท่านเพื่อเข้าเรียนได้ โปรดรู้ว่าเรียนได้ แต่เรียนจบแล้วถึงเวลาขึ้นทะเบียน คุรุสภามีกระบวนการตรวจสอบได้ว่าท่านไม่มีสิทธิเรียน หากท่านคิดว่าคุรุสภาตรวจสอบไม่ได้ ลองเสียเวลาซักปีครึ่งเรียนดูก็ได้ค่ะว่าจริงมั๊ย?
7 ย้ำว่า "ครูผู้สอน" เท่านั้นที่มีสิทธิ์เรียน คุณเป็นครูผู้สอนหรือไม่ย่อมรู้ตัวเองตั้งแต่ทำสัญญาจ้าง กรุณาอย่าบ่นว่าทำไมไม่ให้สิทธิ ธุรการ พี่เลี้ยงเด็ก ผู้ดูแลเด็ก ฯ สัญญาจ้างต้องเป็นสาย "ครูผู้สอน" เท่านั้น
ทำงานในโรงเรียน ไม่ได้หมายความว่าเป็นครูผู้สอนทุกคน ส่วนท่านจะไปสอนนอกเหนือสัญญาจ้าง อันนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างท่านกับโรงเรียนนะคะ
8. อย่าเรียกร้องว่าท่านเสียสิทธิ์ไม่ได้เรียน ป.บัณฑิตนี้ เพราะช่องทางนี้ มีให้สำหรับ "หน่วยผู้ใช้ครู" ที่จำเป็นจะต้องใช้ครูในกรณีที่ไม่สามารถหาครูได้ อย่ามองเพียงโรงเรียนของท่าน คุรุสภาดูแลทุกสังกัด เฉพาะ สพฐ. ก็สามหมื่นกว่าโรงเรียน ความขาดแคลนย่อมไม่เหมือนกัน หน่วยผู้ใช้ครูเขาจำเป็นต้องใช้ครู เขาจะทำโครงการขอรับรองเพื่อส่งครูของเขาไปเรียนเอง คุรุสภาจะไม่ทราบว่า หน่วยผู้ใช้ครูจำเป็นหรือไม่จำเป็น
9. ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องของหน่วยผู้ใช้ครูที่จะทำให้เกิดขึ้นหรือไม่? ท่านเป็นครูผู้สอนสังกัดใดก็สอบถามต้นสังกัดตนเองเท่านั้น แล้วหน่วยผู้ใช้ครูจะประสานกับคุรุสภาเอง เว้นเสียแต่ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยผู้ใช้ครูไม่ทราบถึงเรื่องนี้ ท่านสามารถสอบถามถึงวิธีการปฏิบัติเพื่อแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ในหน่วยผู้ใช้ครูต่อไป.
เพิ่มเติม ข้อที่ 10 สำรวจตนเองก่อนเข้าเรียนว่า วิชาเอกที่ตนเองมี สามารถสมัครสอบบรรจุได้หรือไม่ เพื่อจะได้ตัดสินใจว่าไปเรียน ป.ตรีทางการศึกษาใหม่ดีกว่าหรือไม่นะคะ
หมายเหตุ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และโพสต์บนเพจ Mask No Real Somkamol ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2558 เวลา 09.30 น.