จากกรณีที่สำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานที่เป็นผู้ดำเนินการออกข้อสอบและประมวลผลข้อสอบคัดเลือกผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ประจำปี 2558 ได้ยอมรับว่า การเฉลยข้อสอบ มีความผิดพลาดเกิดขึ้นจริง โดยเป็นความผิดพลาดในข้อสอบ 6 ข้อ จากข้อสอบทั้งหมด 400 ข้อ แบ่งเป็น ข้อสอบในส่วนของผอ. 4 ข้อ และรองผอ. 2 ข้อ ทั้งนี้ ความผิดพลาดดังกล่าวนั้น จะเป็นในส่วนของคำถามที่ไม่ชัดเจน และรูปแบบการจัดข้อสอบที่เว้นวรรคผิดพลาด ทำให้คำตอบคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดดังกล่าวคิดเป็น 1.5% ซึ่งทางวิชาการถือว่าเป็นความคลาดเคลื่อนที่สามารถยอมรับได้ นั้น
ความผิดพลาดในการเฉลยข้อสอบผิดเช่นนี้ ไม่ใช่แค่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ารับราชการ หรือเพื่อเลื่อนตำแหน่งทางราชการเท่านั้น แต่ยังเคยเกิดและเป็นบทเรียนมาแล้วในอดีต เช่นในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้มีการสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ ว 12 ในเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ และมีข่าวปรากฎว่ามีการได้รับเฉลยกันมาก่อนแล้วในระดับประเทศ จนเป็นเหตุให้มีการสืบสวน สอบสวนขยายผลกันเป็นเรื่องเป็นราวกันยกใหญ่
จากกรณีดังกล่าว มีหลักฐานหนึ่งที่เป็นตัวชี้ได้ว่า ใครบ้างที่อาจจะมีส่วนรู้เห็นและเข้าข่ายในการทุจริตในครั้งนั้น นั่นก็คือ "ข้อสอบข้อ 34" ที่มีการเฉลยผิด และกรรมการได้ทำการเปลี่ยนเฉลยใหม่ จนกลายเป็นหลักฐานเด็ดข้อสอบ มัดตัวแน่น "คนโกง" สอบครูผู้ช่วย และผู้บงการมาสอบสวน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในด้านการวัดผลกล่าวว่า ถ้าคิดตามหลักวิชาการแล้ว สามารถนำมาทำเป็นกราฟ และดูความผิดปกติได้
ในครั้งนั้น ข้อสอบข้อที่ 34 ของวิชาความรอบรู้ (S101) เดิมข้อสอบข้อนี้ เฉลยข้อ ก แต่ก่อนพิมพ์ข้อสอบ กรรมการรายหนึ่งเห็นว่า ข้อสอบข้อนี้มีความผิดพลาด จึงเปลี่ยนแปลงคำถามใหม่ ทำให้เฉลยข้อสอบเปลี่ยนจาก ข้อ ก เป็น ข้อ ข แต่เฉลยข้อสอบที่หลุดออกไปนั้น นำออกไปก่อนจะมีการแก้ไขข้อสอบ
แตกต่างจากในการสอบผู้บริหารสถานศึกษาครั้งนี้ ที่ทาง มศว เองได้ดำเนินการไปจนสิ้นสุดกระบวนการของตนแล้ว คือส่งผลคะแนนไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและได้จัดทำประกาศผลไปเป็นที่เรียบร้อย แถมยังล่วงเลยไปจนกระทั่งมีการอบรมพัฒนาฯ ผู้สอบผ่านและเตรียมบรรจุในรอบแรกไปแล้วด้วย
หากไม่มีการร้องเรียนใดๆ จากผู้ที่สงสัยในความคลาดเคลื่อนนี้ ก็คงจะไม่มีการดำเนินการใดๆ จากทางผู้รับผิดชอบ และปล่อยให้เรื่องเงียบหาย คนที่ตอบถูกและเสียผลประโยชน์ไปจากการเฉลยข้อสอบผิด ก็นิ่งเงียบไปเหมือนในอดีตที่ไม่สามารถเข้าดูข้อสอบและเฉลยข้อสอบได้ ก็จะเป็นเพืยงเรื่องเล่าปากต่อปาก และเป็นตำนานในการสอบคัดเลือกบุคคล ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องความโปร่งใสของเขตพื้นที่ ทำให้ส่วนกลางต้องดึงอำนาจกลับไปเป็นผู้ดำเนินการไว้ในส่วนกลาง ปล่อยให้เขตพื้นที่การศึกษา เป็นเพียงหุ่นยนต์ที่ต้องทำตามคำสั่งเท่านั้น
แม้ว่าล่าสุด จะแก้ปัญหาโดยการยกประโยชน์ให้ทุกคนโดยการให้คะแนนในข้อเหล่านั้นแบบฟรีๆ แต่ก็ยังถือได้ว่ายังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องสักเท่าไหร่นัก เพราะหากจะพูดกันในทางหลักวิชาการแบบภาษาชาวบ้านก็คือ ตอบถูก-ตอบผิด ก็ได้คะแนน ซึ่งต่างจากบทเรียนในอดีตที่ยกมา ที่มีการแก้ไขเฉลยใหม่ ก่อนที่จะประมวลผลข้อสอบ ทำให้เห็นกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของข้อสอบที่แตกต่างกัน งานนี้ทำให้เครดิตของผู้ออกข้อสอบดูจะเสียไปพอสมควร
ต้องคอยดูว่าในวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ที่จะเชิญตัวแทนของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา เข้าไปรับฟังการชี้แจงผลการประมวลผลคะแนนใหม่ จะมีวิธีดำเนินการ และการแก้ไขเรื่องเหล่านี้อย่างไร และจะมีผู้ที่จะร้องเรียนอีกหรือไม่
"โปรดคอยติดตามตอนจบของเรื่องนี้ต่อไป"
-ครูบ้านนอกดอทคอม-