คอลัมน์ ส่องการศึกษาไทย: อกคศ. เขตพื้นที่ฯ เลื่อนเงินเดือนครู : ต้อนคนเข้าพวก
ดร.รัชศักดิ์ แก้วมาลา
ในช่วงเดือนเมษายนและตุลาคมของทุกปี บรรดาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนปกติและกรณีพิเศษ (2 ขั้น) โดยผู้มีอำนาจพิจารณาดังกล่าว เป็นอำนาจของ องค์คณะบุคคลที่เรียกว่า อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มาตรา 23 (3) ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการพิจารณาความดีความชอบของผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา
องค์ประกอบของคณะผู้มีอำนาจพิจารณาดังกล่าว มาจากการเลือกตั้งของผู้แทนครูส่วนหนึ่ง และมาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลางจำนวนหนึ่ง ในนามผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งปัจจุบันมิได้เป็นข้าราชการครู ทำให้คณะบุคคลดังกล่าว มีความหลากหลายประสบการณ์ หลากหลายมุมมอง หลากหลายความเชี่ยวชาญ
โดยหลักการแล้วเชื่อว่า...จะทำให้การทำหน้าที่เป็นไปด้วยความรอบคอบ บริสุทธิ์ยุติธรรม เกิดประโยชน์ต่อการบริหารงานบุคคลสูงสุด และเป็นการถ่วงดุลอำนาจของผู้บังคับบัญชาโดยตรง
แต่โดยข้อเท็จจริงผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้ง มักจะยึดโยงกับนักการเมืองในท้องถิ่น หรือแม้แต่ผู้แทนครูสายเลือกตั้งเข้ามาก็ตาม ก็หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง
ฉะนั้น การเมืองจึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการให้ความดีความชอบของครูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้น ข้าราชการครูที่คาดหวังจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น เงินเดือนกรณีพิเศษ (2 ขั้น) จึงหลีกไม่พ้นที่จะต้องวิ่งเข้าอาศัยบารมีนักการเมือง แม้จะมีผู้แทนครูที่ตนเองเลือกตั้งเข้ามาก็ตาม ก็ไม่สามารถพึ่งพาอาศัยได้อย่างอิสระ ดังคำกล่าวว่า...
"อำนาจย่อมวิ่งเข้าหาศูนย์กลางของอำนาจ"
ไม่ใช่ว่านักการเมืองเป็นคนไม่ดี แต่ธรรมชาติการเมืองย่อมยึดผลประโยชน์เชิงการเมืองเป็นหลักในการพิจารณา เช่นว่า...
ตนเองจะได้รับการยอมรับนับถือหรือไม่ คนที่ตนเองช่วยเหลือจะเข้ามาเป็นพรรคพวกหรือไม่ และข้าราชการครูเป็นบุคคลตัวอย่างของชุมชนหมู่บ้าน หากครูยอมรับยกย่องนักการเมืองท่านใด ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชาวบ้านได้
นั่นหมายถึงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งในท้ายที่สุด ครั้นขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาสูญเสียเช่นนี้แล้ว คุณภาพการศึกษาที่สังคมคาดหวังก็เป็นอันสิ้นสุด
นี่คือ ระเบิดเวลาที่บรรดานักการเมืองวางไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 แม้จะเขียนเสือให้วัวกลัวใน มาตรา 93 ว่า...
"ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องวางตนเป็น กลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน โดยต้องไม่อาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตนแสดงการฝักใฝ่ ส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใด"
ก็ไม่มีประโยชน์อันใด เพราะมันเป็นกระบวนการต้อนคนเข้าพวกอย่างถูกต้องตามกฎหมายและแยบยล
ที่มา บางกอกทูเดย์ วันที่ 8 พฤษภาคม 2558
Advertisement