ถ่ายโอนโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ไป อปท.ยังไม่ใช่ข้อสรุป ชี้เป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องรับฟังความเห็นอีกเยอะ ส่วนการเรียนฟรียังคงให้ 12 ปี แต่อาจไม่เท่ากัน คนยากจนจะได้เพิ่มขึ้น
จากกรณีที่มีการเชิญชวนของกลุ่มครูทางสังคมออนไลน์ว่าจะมีการนัดครูทั่วประเทศชุดดำ ในวันที่ 7-9 พฤษภาคม เพื่อคัดค้านการถ่ายโอนโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ไปอยู่ในการกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) พร้อมขึ้นข้อความ"คัดค้าน ไม่ไป ไม่ย้าย ไม่ถ่าย ไม่โอน ครูสู่ อปท." และร่วมลงชื่อคัดค้าน เพื่อยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และให้ส่งต่อไปยังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้น
วันนี้ (6 พ.ค.) นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ฐานะโฆษก ศธ. กล่าวว่า จุดยืนของ ศธ.ยืนยันว่า ข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องกระจายอำนาจจัดการการศึกษาสู่ท้องถิ่น รวมถึงข้อเสนอจากฝ่ายต่าง ๆ อาทิ การยุบรวมองค์กรหลักใน ศธ. ยุบเลิกสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)นั้น ยังเป็นเพียงข้อเสนอที่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณา รับฟังความคิดเห็นอีกมาก ยังไม่ใช่ข้อสรุปในเชิงนโยบายใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นของ ศธ. สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
“ไม่อยากให้ครูตระหนก สับสน และเข้าใจว่าเรื่องการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาสู่ท้องถิ่นเป็นข้อสรุปแล้ว เพราะเรื่องการปฏิรูปต้องใช้เวลา ที่ผ่านมาเคยมีการถ่ายโอนสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปให้ อปท.แล้วส่วนหนึ่ง แต่ก็มีปัญหาข้อขัดข้องเยอะจนเกิดกระบวนการถ่ายโอนกลับคืน และเป็นบทเรียนที่ต้องนำมาพิจาณาด้วย อย่างไรก็ตามผมเห็นว่าทิศทางเรื่องการกระจายอำนาจภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบการจัดการศึกษาไปสู่ท้องถิ่นมีอยู่แล้ว แต่จะมากหรือน้อย เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับความพร้อมจะทำอะไรผลีผลามหักดิบไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมและระบบแรงจูงใจที่ทำให้ครูและผู้บริหารทำงานได้สบายใจขึ้น โดยสิ่งที่เราอยากเห็น คือ ถ้าจะมีการถ่ายโอนโรงเรียนไปในอนาคต ต้องเป็นการถ่ายโอนที่ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น นักเรียนเรียนหนังสือได้ดีขึ้น ครูและผู้บริหารทำงานอย่างความสุขมากขึ้น เพราะฉะนั้นตราบใดที่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น กระจายอำนาจไปก็คงไม่มีประโยชน์” นายอมรวิชช์กล่าว
โฆษก ศธ.กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอเรื่องลดการเรียนฟรี 12 ปี เหลือ 9 ปี นั้น เป็นข้อเสนอที่คุยกันใน สปช. เพราะเราอยากเห็นการอุดหนุนที่เป็นการอุดหนุนเงินลงไปที่คนยากจน เด็กด้อยโอกาสให้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นรายละเอียด ทั้งนี้ในร่างรัฐธรรมนูญ ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า รัฐต้องอุดหนุนอย่างเหมาะสม ตั้งแต่ปฐมวัยจนจบการศึกษาภาคบังคับ คือ ตั้งแต่ 3 ขวบไปจนถึงการศึกษาภาคบังคับ ดังนั้นทิศทางการอุดหนุนก็ยังคงเป็น 12 ปี เหมือนเดิม อย่างไรก็ตามคิดว่าต้องมีการปรับเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวใหม่หมด คือ มีการอุดหนุนขั้นต่ำเท่าเทียมกันทุกคนจริง แต่จะมีเงินรายหัวส่วนเพิ่มให้คนยากจนมากขึ้นโดยแปรผันตามสภาพผู้เรียน สภาพโรงเรียน และสภาพพื้นที่ เพื่อให้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัดเป็นเงินที่ลงไปสู่คนยากจนมากที่สุด
ที่มา เดลินิวส์ วันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2558