คอลัมน์ Education Idea โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณภาพเยาวชน (สสค.)
ประเทศไทยเคยมีระบบการจัดการศึกษา "มัธยมแบบประสม" ซึ่งพบว่าเป็นระบบการออกแบบหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น ลดปัญหานักเรียนออกกลางคัน สร้างทัศนคติที่ดีทางด้านอาชีพให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง โดยปัจจุบันมีโรงเรียนสายสามัญร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษาที่เปิดสอนเพื่อให้เด็ก 2 วุฒิ คือ ม.6 และ ปวช. เช่น ร.ร.หนองบุนนากพิทยาคม จ.นครราชสีมา ร.ร.สระหลวงพิทยาคม จ.พิจิตร และ ร.ร.ดีนูลอิสลาม จ.สงขลา
สิ่งที่น่าคิดต่อไปคือ ประเทศไทยควรจะลงทุนการศึกษาอย่างไร ในขณะที่งบประมาณการศึกษาใกล้จะชนเพดาน ?จากสถิติงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการย้อนหลัง 10 ปี (2548-2557) จาก 262,938 ล้านบาท เป็น 482,788 ล้านบาท ซึ่งพบว่าประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษาเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังตกต่ำ
หากมีการลงทุนเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่เติมเข้าไปในระบบเดิมก็จะได้ผลดังเดิม จึงมีตัวอย่างการใช้นวัตกรรมการจัดรายได้และการใช้จ่ายเงิน อย่างประเทศบราซิล ซึ่งมีจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการศึกษาในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย คือระหว่างปี 2542-2543 แต่บราซิลมีโจทย์ที่ท้าทายยิ่งกว่า นั่นคือ จำนวนประชากรที่สูงกว่าไทยถึง 3 เท่า และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าไทย
แต่ 10 ปีผ่านไป ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียนในบราซิลกลับเพิ่มขึ้น ทั้งผลการสอบ PISA ในวิชาคณิตศาสตร์ ปี 2552 ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น 30 คะแนน และวิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้น 15 คะแนน ขณะที่ไทยลดลงในวิชาคณิตศาสตร์ 13 คะแนน
ผ่านมาทั้งไทยและบราซิลต่างใช้มาตรการเพิ่มงบประมาณเข้าไปในระบบการศึกษา โดยไทยมีสัดส่วนการลงทุนด้านงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว ในขณะที่บราซิลไม่ได้เริ่มที่การเพิ่มงบประมาณเข้าสู่ระบบการศึกษาทันที แต่เริ่มที่การติดตั้งระบบสารสนเทศ (Basic Education Development Index หรือ IDEB) เพื่อติดตามการเข้าเรียนและพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก
จากนั้นจึงจัดสรรเงินอุดหนุนตามตัวผู้เรียนเพิ่มเติม ตามความต้องการด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนและเด็กกลุ่มเสี่ยงเป็นรายบุคคล เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมถึงการเพิ่มเงินอุดหนุนเงินเดือนครูเพื่อสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมคุณภาพการพัฒนาครู โดยเฉพาะครูที่อยู่โรงเรียนห่างไกล และการอุดหนุนเงินไปที่ครอบครัวผู้เรียนยากจนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ครอบครัวสนับสนุนให้เด็กวัยเรียนศึกษาต่อจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
การเพิ่มงบประมาณเข้าไปในระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะทำให้ระบบการศึกษาดีขึ้น สิ่งสำคัญคือการจัดสรรงบประมาณไปให้ถูกจุดโดยมีระบบสารสนเทศเป็นเครื่องมือสนับสนุนการจัดการที่ลงลึกถึงโรงเรียนเพื่อเติมทรัพยากรตามความต้องการได้อย่างตรงจุด การให้อิสระในการจัดการเรียนการสอนแก่โรงเรียน ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบของครูและผู้อำนวยการโรงเรียนโดยใช้ระบบสารสนเทศเป็นตัวกำกับ
ขณะนี้ สสค.อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสารสนเทศหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยติดตามผลการพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงวัยแรงงาน โดยจะพัฒนาพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน นครราชสีมา ภูเก็ต พิษณุโลก และอำนาจเจริญ ก่อนที่จะขยายผลการจัดทำข้อมูลสู่ระดับประเทศต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 6 พ.ค. 2558
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
• ปัจจัยฉุดรั้งการศึกษา (1)