ศึกษาธิการ - ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2558 เกี่ยวกับข้อเสนอของศาสตราจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน เกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งได้มีข้อเสนอในการปรับโครงสร้างองค์กรทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน และกลุ่มผู้สนใจในการจัดการศึกษา ด้วยการถ่ายโอนโรงเรียนและสถาบันการศึกษาไปยัง อปท. เต็มรูปแบบ
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ กล่าวว่า ข้อเสนอการถ่ายโอนโรงเรียนไปยังสังกัด อปท. โดยยึดหลักการที่ว่า ท้องถิ่นอยู่ใกล้ตัวเด็ก จึงควรจะถ่ายโอนโรงเรียนไปอยู่ในความดูแลของ อปท.นั้น เป็นเพียงข้อเสนอหนึ่งในช่วงของการเปิดรับฟังความคิดเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เกี่ยวกับปฏิรูปการศึกษาเท่านั้น และยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปเชิงระบบอีกหลายเรื่อง เช่น การยุบสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาฯ (สมศ.) การยกเลิกสอบ O-Net การยุบรวมองค์กรหลัก เป็นต้น
ทั้งนี้ สปช.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นประเด็นการปฏิรูปการศึกษาใน 10 จังหวัด และเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้ทุกฝ่ายทุกคนที่มีความสนใจเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเข้ามา จากนั้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2558 จะสรุปประมวลความคิดเห็นทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา เพื่อเป็นข้อเสนอในการแปรญัตติด้านการศึกษาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการด้านการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา มีคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกันการทำงานแบบ 3 ประสาน เพื่อพิจารณาทิศทางการปฏิรูปการศึกษาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนและสังคมให้มากที่สุด โดยมีการนำบทเรียนในอดีตมาทบทวนอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นอีก ดังนั้นบทเรียนของการกระจายอำนาจในอดีต ก็จะต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบด้านด้วย
นอกจากนี้ 3 ฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าการกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อม สร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่จะต้องร่วมกันพิจารณาตั้งแต่ในเรื่องของการผลิตกำลังคน ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านคุณลักษณะและด้านจำนวนกำลังคนในแต่ละระดับการศึกษาที่สอดรับกับการพัฒนาในพื้นที่
ในส่วนของทิศทางการศึกษาในระยะยาว สปช.หวังจะเห็นการศึกษาตอบโจทย์บริบททางเศรษฐกิจ สภาพภูมิสังคมและวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่มากขึ้น การศึกษาช่วยสร้างโอกาส สร้างงาน รักษาคน และตอบสนองความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ได้มากขึ้น โดยจะมีมาตรฐานขั้นต่ำของเด็กไทยทุกคนที่เหมือนกัน เช่น เด็กไทยรู้ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายของการกระจายอำนาจ ที่จะต้องมีการจัดการศึกษาที่มีความหลากหลายตามสภาพเศรษฐกิจสังคมของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาพิเศษ ที่จะต้องมีการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาให้สอดรับกับแผนการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาพิเศษในอนาคตด้วย
สำหรับผู้สนใจที่ต้องการแสดงความคิดเห็นประเด็นการถ่ายโอนโรงเรียนไปอยู่ในความดูแลของ อปท. และการปฏิรูปการศึกษาต่างๆ สามารถส่งข้อมูลแสดงความคิดเห็นไปได้ที่ "ศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ" ตามช่องทางต่างๆ ดังนี้
- ตู้ ปณ.999 ปณฝ.รัฐสภา กรุงเทพฯ 10305
- โทรศัพท์/โทรสาร หมายเลข 02-244-1881
- อีเมล nrc57.public@gmail.com
- เว็บไซต์ http://www.parliament.go.th/publicopinion
- Facebook : ศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ
- LINE : nrc57public
ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 6 พฤษภาคม 2558