ค้านถ่ายโอนโรงเรียนและสถานศึกษาซุกท้องถิ่นปลุกพลังครูแต่งดำไม่เอาข้อเสนอ "ศรีราชา วงศารยางกูร" ระบุเป็นเพียงความฝัน นัดรายชื่อยื่น "บิ๊กตู่" ด้านรองนายกฯผอ.สพท.ยืนยัน ไม่เห็นด้วยระบุ อปท. ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะจัดการศึกษาได้ แถม ยังมีผลวิจัย พบเป็นหน่วยงานที่ติด 1 ใน 5 ที่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะครูนครศรี ธรรมราชนัดประชุมสรุป 5 ข้อเสนอยันทำเพื่อการศึกษา
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. นายจำเริญ พรหมมาศ นายกสมาคมรองผู้อำนวยการสำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) กล่าวถึงกรณีที่ นายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา ว่าการปฏิรูปการศึกษาที่จำเป็นจะต้องร่าง พ.ร.บ.ขึ้นใหม่ 13 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องกระจายอำนาจจัดการการศึกษาสู่ท้องถิ่นโดยถ่ายโอนโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปอยู่ในการกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น เรื่องนี้นายกสมาคมรอง ผอ.สพท. ไม่เห็นด้วยแน่นอน จึงได้เชิญชวนทุกองค์กร สมาคมชมรม กลุ่มวิชาชีพ ให้ร่วมต่อต้านข้อเสนอ ดังกล่าว
"การถ่ายโอนอำนาจการดูแลโรงเรียนไปอยู่กับ อปท. ถือเป็นความเจ็บปวดและเป็นฝันร้ายเหมือนในอดีต ที่ก่อนปี พ.ศ. 2523 โรงเรียนประถมศึกษาอยู่ในความดูแลของ อปท. ซึ่งเวลานั้นครูมีความกดดันมากจึง ต้องลุกขึ้นมาประท้วงและในที่สุดก็โอนย้ายโรงเรียนประถมศึกษามาอยู่ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ(สปช.) กระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นหากจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม สมาคมรอง ผอ.สพท.ไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เนื่องจาก อปท. ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะจัดการศึกษาได้เพราะเวลานี้งานที่ อปท. ดูแลอยู่ทั้งเรื่องถนนหนทาง ระบบไฟฟ้า ประปา แม้แต่การดูแลประชาชนในพื้นที่ก็ยังทำไม่สำเร็จแล้วจะมา บริหารจัดการศึกษาได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศที่พบว่า อปท. เป็นหน่วยงานที่ติด 1 ใน 5 ที่มีปัญหา ทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุดอีกด้วย" นายจำเริญกล่าวและว่าเรื่องนี้ถือเป็นฝันกลางวันของนายศรีราชา เพราะความจริง อปท. ไม่มีความพร้อมแม้แต่น้อย
นายกสมาคม รอง ผอ.สทพ. กล่าวต่อว่า การที่โรงเรียนและสถานศึกษาอยู่ ในความดูแลของ ศธ.เป็นเรื่องที่ดีแต่ต้อง ช่วยสนับสนุนให้โรงเรียนสามารถบริหาร จัดการตนเองได้หรือมีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษาคอยดูแลเพื่อให้การบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไรก็ตามหากจะมีการถ่ายโอนอำนาจการดูแลครูไปอยู่กับท้องถิ่นจริง ก็ควรโอนแพทย์และตำรวจไปด้วยทั้งหมด ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 7-9 พ.ค. จะมีการแต่ง ชุดดำเชิงสัญลักษณ์พร้อมขึ้นข้อความ "คัดค้าน ไม่ไป ไม่ย้าย ไม่ถ่าย ไม่โอน ครูสู่ อปท." ด้วยอักษรสีขาว พื้นสีดำ และร่วมลงชื่อคัดค้านเพื่อยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และส่งไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป
วันเดียวกันเวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ ถนนราช ดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราชกลุ่มผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดเขตการศึกษาขั้นพื้นฐานจังหวัดนครศรี ธรรมราช เขต 1, 2, 3, 4 และเขตการศึกษามัธยมศึกษา เขต 12 นครศรีธรรมราช นำโดยนายจำเริญ พรหมมาศ รอง ผอ.เขตการศึกษาประถมศึกษาเขต 2 ทุ่งสง เพื่อประชุมคัดค้านข้อเสนอของนายศรีราชา โดยที่ประชุมได้ ข้อสรุป 5 ข้อ คือ
1. การให้ความรู้กับแกนนำครูเกี่ยวกับสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 และร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ....โดยเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นหลอมรวมกันเป็นจุดยืนของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อกรณีดังกล่าว
2.เฝ้าระวังติดตามการแปรญัตติของ สปช. คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด
3.ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดระดับเขตการศึกษา ระดับอำเภอ เพื่อเตรียมคัดค้านการถ่ายโอนโรงเรียนและสถานศึกษา ไปอยู่ในการกำกับขององค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ หากมีการกำหนดสารบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯจริง
4.กำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมนำไปสู่การรวมพลังคัดค้านในรูปแบบต่าง ๆ อย่างหลากหลายและเต็มรูปแบบ เช่น
4.1 ระดมทุนจัดหางบประมาณ ในการขับเคลื่อน
4.2 จัดทำบัญชีรายชื่อครู และบุคลากรทางการศึกษารวมลงนามคัดค้านทั้งอำเภอให้เต็มพื้นที่ทุกหน่วยงานทุกองค์การ มีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน
4.3 แถลงการณ์ ในนามเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช
4.4 แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและทำหนังสือถึงประธาน คสช. และนายกรัฐมนตรี
4.5 จัดทำสัญลักษณ์ ใน การต่อสู้ อาทิ ทำเสื้อ/โลโก้ข้อความ จดหมายเปิดผนึก ฯลฯ
4.6 แต่งตั้งตัวแทนระดับจังหวัดทำการประสานในระดับภาคและระดับประเทศและ
5.เคลื่อนพลสู่เมืองหลวงประท้วงเต็มรูปแบบโดยการดำเนินการคัดค้านในครั้ง นี้ เราทำเพื่อการศึกษา เพื่อวิชาชีพและเพื่อประเทศ.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 7 พ.ค. 2558 (กรอบบ่าย)
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
• ฉบับเต็ม ข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ยุบเขตพื้นที่ โอนโรงเรียนให้ท้องถิ่นเต็มรูปแบบ