นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ลงนามในหนังสือนัดประชุม สปช. วันที่ 6 พ.ค. เป็นพิเศษ เวลา 10.00 น. เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สปช. เป็นประธาน กมธ.ฯ เรื่องการปรับโครงสร้างอำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริหารงานภาครัฐ โดยสาระสำคัญของรายงาน ได้แก่ ปัญหาของการบริหารราชการไทย พบว่า มีโครงสร้างส่วนราชการจำนวนมาก อาทิ มีกระทรวงจำนวน 20 กระทรวง มีหน่วยราชการระดับต่างๆ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค จำนวน 11,965 หน่วย และมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐ จำนวน 58 หน่วยงาน และองค์กรมหาชน จำนวน 53 หน่วยงาน ทำให้การทำงานมีขั้นตอนจำนวนมาก จนเกิดความล่าช้า ไม่คล่องตัวและสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังเกิดข้อบกพร่องและนำไปสู่การทุจริตประพฤติมิชอบได้ง่าย ขณะที่ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานราชการ พบว่าซ้ำซ้อนทั้งระหว่างกรมภายในกระทรวงด้วยกันเอง และมีความรับผิดชอบที่ไม่ชัดเจน
กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินจึงเสนอให้ราชการบริหารส่วนกลาง ที่พบว่ามีหน่วยงานไปอยู่ในภูมิภาคจำนวนมาก ต้องทบทวนและปรับปรุงหน่วยงานดังกล่าว โดยให้ยุบหรือปรับลดหน่วยงานของราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคให้เหลือเท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจ หรือเหลือเฉพาะงานที่ไม่สามารถมอบให้ภูมิภาคหรือองค์กรบริหารท้องถิ่นดำเนินการแทนได้ เช่น งานวิจัยและพัฒนา งานบริการทางวิชาการที่มุ่งบริการให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือ ประชาชนส่วนรวมในกลุ่มเขตจังหวัด
รายงานยังได้เสนอแนวทางปฏิรูปด้วยว่า สำหรับราชการบริหารส่วนกลาง ควรกำหนดบทบาทและหน้าที่ เช่น กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย เป้าหมายในการพัฒนาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงกำกับและประเมินผล ขณะที่ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ต้องกำหนดให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลเรื่องความมั่นคง ความเป็นธรรม แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และรับผิดชอบการบริหารราชการตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีฐานะเป็นตัวแทนราชการบริหารส่วนกลางในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
เพิ่มอำนาจท้องถิ่น
สำหรับราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ให้มีภารกิจเกี่ยวกับการบริการสาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิต เป็นต้น ทั้งนี้ ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่สามารถจัดเก็บภาษี หารายได้ และก่อนหนี้ได้ภายใต้ระเบียบที่ส่วนกลางกำหนด ทั้งนี้ ในราชการส่วนท้องถิ่นต้องเปิดโอกาสให้สมัชชาพลเมือง องค์กรชุมชน และภาคประชาสังคมมีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ มีกระบวนการสื่อสารและรับฟังความเห็นของประชาชนต่อการดำเนินงานภาครัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในรายงานมีข้อเสนอต่อการปฏิรูปการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ให้มีคณะกรรมการคัดเลือกหรือกลั่นกรองบุคคลที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับปลัดกระทรวง หรือตำแหน่งที่เทียบเท่าปลัดกระทรวง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรมหรือเทียบเท่า ซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยวุฒิสภา เพื่อให้มีคณะกรรมการเข้ามาพิจารณาและเสนอรายชื่อบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้มีคณะกรรมการที่เป็นกลางเพื่อพิจารณาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและเหมาะสมกับตำแหน่งที่แท้จริง และเป็นไปตามระบบคุณธรรมเข้ามาทำหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้ด้วย
รายงานฉบับดังกล่าวมีข้อเสนอแนะให้แก้ไขบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่า
1.รัฐต้องปฏิรูประบบบริหารงานบุคคลภาครัฐ โดยให้มีหลักเกณฑ์การสรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งตามระบบคุณธรรม มีองค์กรวินิจฉัยอุทธรณ์และร้องทุกข์เพื่อพิทักษ์ระบบคุณธรรม เป็นมาตรฐาน เอกภาพ รวมถึงการลงโทษต้องมีกระบวนการที่เป็นมาตรฐานด้วย
2.ให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรมประจำกระทรวง และเสนอต่อรัฐมนตรีประจำกระทรวงพิจารณา
3.ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุกระดับแทรกแซงการปฏิบัติราชการและบริหารงานบุคคล รวมถึงกำหนดบทลงโทษหากพบว่าฝ่าฝืนข้อห้ามด้วย และ
4.กำหนดหลักการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พนักงาน หรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐเพิ่มเติมจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย จริยธรรม เพื่อประโยชน์ต่อการปรับบทบาทและปรับภารกิจของรัฐ.
อ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 3 พฤษภาคม 2558