สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เผยผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 ที่ผ่านมา พบว่า มี 5 ปัจจัยที่ ภาคการศึกษาขั้นพื้นฐาน อันได้แก่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษา ต้องให้ความสำคัญเพื่อการยกระดับการศึกษาไทย
ทั้งนี้ สมศ ยังแนะการเตรียมตัวของสถานศึกษาต่อการประเมินรอบที่ 4 ให้ทุกสถานศึกษาต้องตื่นตัวต่อการประเมิน และนำข้อเสนอจากผลการประเมินรอบที่ 3 มาวางแผนพัฒนาเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
"ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์" ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่ 3 นั้น ทาง สมศ. ได้กำหนดตัวบ่งชี้ ไว้ 12 ข้อ เพื่อเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพมาตรฐาน ให้เป็นไปตามกรอบแนวทางเพื่อการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน แต่จากผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปนั้น พบว่า มีตัวบ่งชี้ ที่เป็นปัจจัยที่ สถานศึกษาขั้นพื้นฐานต้องให้ความสำคัญเพื่อการยกระดับการศึกษาไทยอย่างมีคุณภาพ 5 เรื่อง ดังนี้
1.ความสำเร็จของผู้เรียน อันสอดคล้องตามตัวบ่งชี้ที่ 5 ที่ระบุเนื้อหาว่า “ผู้เรียนในระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 สามารถผ่านการทดสอบทางวิชาการได้ในระดับดี” ทั้งนี้ ผลการสอบ โอเน็ต ที่ผ่านมาพบว่าผู้เรียนทำได้คะแนนค่อนข้างต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยได้ค่าเฉลี่ยเพียง 9.77 จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน
2. การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ อันสอดคล้องตามตัวบ่งชี้ที่ 6 ของสมศ. โดยเนื้อหาดังกล่าว อาทิ เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้เลือกหรือตัดสินใจในเนื้อหาสาระที่สนใจ เป็นประโยชน์ต่อตัว ผู้เรียน การเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม ฯลฯ
3. ความสามารถด้านการคิดอย่างเป็นระบบของผู้เรียน ตามตัวบ่งชี้ที่ 4 คือการที่โรงเรียนส่งเสริมผู้เรียนให้มีความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบ คิดสร้างสรรค์ ตัดสินใจ แก้ปัญหาได้อย่างมีสติสมเหตุผลโดยจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมพัฒนาทักษะการคิดได้แก่ กิจกรรมการเปรียบเทียบ จัดลำดับ การเล่าเรื่อง และการสร้างแผนผังความคิด ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะการคิดทุก รายวิชาการอ่าน
4. ผู้เรียนได้ค้นคว้าหาความรู้จากการอ่าน โดยการอ่านเป็นทักษะขั้นพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มพูนศักยภาพของผู้เรียนได้ อาทิ กระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยกระตุ้นความจำ บริหารกระบวนการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเยาวชนไทยส่วนใหญ่ ดังให้ความสำคัญกับการอ่าน ตลอดจนพบว่า กว่า 30 % ของเยาวชน อ่านหนังสือไม่ออก
5. การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา และการประกันคุณภาพของสถานศึกษา ทั้งนี้ สถานศึกษาจะต้องจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องว่า ผู้เรียนทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพจากสถานศึกษา เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ โดยการเตรียมความพร้อมดังกล่าวจะสามารถสะท้อนระบบการบริหารจัดการของสถานศึกษา อันจะส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน ดังนั้น สถานศึกษาเป็นแปรสำคัญในการกำหนดคุณภาพผู้เรียน
อย่างไรก็ตาม "ศ.ดร.ชาญณรงค์" กล่าวอีกว่า สมศ. มีข้อเสนอแนะสำหรับการเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่ 4 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2559-2563 ด้วยข้อแนะนำ 4 ประการดังนี้
1) การให้สถานศึกษาทุกแห่งทำประกันคุณภายภายในทุกปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาดินพอกหางหมู ในการจัดเตรียมเอกสารของบุคลากร
2) สถานศึกษาควรจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากการปฏิบัติจริงให้สอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในอย่างเป็นระบบ เพื่อความสะดวกในการสืบค้น หรืออ้างอิงเพื่อทำประเมินในครั้งต่อไป
3) ให้ทุกสถานศึกษานำข้อเสนอแนะจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 3 มาวางแผนพัฒนาสถานศึกษาเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
4) ทุกสถานศึกษาควรสร้างการมีส่วนร่วมภายในสถานศึกษา ด้วยการเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาทิ ผู้บริหาร บุคลากรในสถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนรอบสถานศึกษา มาร่วมกันคิด วิเคราะห์ โดยใช้จุดที่ควรพัฒนาจากที่ สมศ.ได้แนะนำไว้จากการประเมินที่ผ่านมา เป็นแบบในการกำหนดกลยุทธ์ สู่การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของสถานศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับสถานศึกษาและตัวของผู้เรียนเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 01 พ.ค. 2558