'ผอ.-รอง ผอ.'เฮ! เลขาฯสพฐ.ยันชื่อที่ขึ้นบัญชีแล้วไม่หลุดแน่นอน แม้ตรวจข้อสอบใหม่คะแนนลด ชี้เป็นความผิดพลาดของข้อสอบ ถ้าลำดับในบัญชีไม่เปลี่ยนมากให้บรรจุแต่งตั้งทันที พร้อมถกปลัด ศธ.แก้ปัญหาเรียกเงินแลกโยกย้าย
เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยภายหลังตัวแทนผู้ที่สอบผ่านการคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งได้รับการขึ้นบัญชี ประมาณ 40 คน เข้าพบเพื่อขอบคุณที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แก้ไขกรณีข้อสอบคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่ออกโดยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เฉลยคลาดเคลื่อน แบ่งเป็นระดับผู้อำนวยการสถานศึกษา 4 ข้อ และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา 2 ข้อว่า กลุ่มผู้ที่สอบผ่านขอบคุณที่ สพฐ.แก้ปัญหาโดยคำนึงถึงความถูกต้อง และผู้เข้าสอบทุกคนด้วย
"ยืนยันว่าแม้ สพฐ.จะให้ มศว ตรวจคะแนนผู้เข้าสอบใหม่ทุกคน และจัดส่งคะแนนให้เขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 225 เขต แต่สำหรับผู้ที่สอบผ่านและได้รับการขึ้นบัญชีแล้ว จะไม่มีการลดคะแนนลง เพราะถือเป็นความผิดพลาดของข้อสอบ จึงต้องยกประโยชน์ให้ผู้เข้าสอบ" นายกมลกล่าว
นายกมลกล่าวว่า ผู้ที่ขึ้นบัญชีแล้ว ยอมรับได้ถ้าตรวจข้อสอบใหม่แล้วทำให้ลำดับที่ของตนเองในบัญชีที่ขึ้นไว้แล้วต้องสลับสับเปลี่ยน ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต้องรอดูคะแนนใหม่จาก มศว ก่อน ที่จะส่งเขตพื้นที่ภายในวันที่ 8 พฤษภาคม ถ้าพบว่าไม่ได้ทำให้ลำดับในบัญชีรายชื่อเปลี่ยนแปลงไปมาก ก็ให้บรรจุแต่งตั้งได้ทันที แต่ถ้าลำดับเปลี่ยนแปลงมากเพราะมีผู้ได้รับการประกาศรายชื่อขึ้นบัญชีเพิ่ม ต้องรอบรรจุหลังจากผู้ที่ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีเพิ่ม อบรมตามระเบียบเสร็จก่อน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
นายกมลกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ที่สอบผ่านและได้รับการประกาศรายชื่อขึ้นบัญชีแล้ว 3,791 คน แบ่งเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา 2,288 คน และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา 1,503 คน หลังจากเรียกบรรจุไปแล้ว จะมีตำแหน่งว่างอีก 1,697 อัตรา แบ่งเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา 1,284 อัตรา และรองผู้อำนวยการสถานศึกษา 413 อัตรา
นายกมลกล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกับ นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. เพื่อวางมาตรการและหาแนวทางการจัดการปัญหาการทุจริตทุกประเภทใน สพฐ. โดยเฉพาะข้อครหาว่ามีเรียกรับเงินในการโยกย้ายครู และผู้บริหารโรงเรียน กิโลเมตรละ 100,000 บาท ให้หมดสิ้นไปในยุคที่ตนเป็นเลขาธิการ กพฐ. เรื่องนี้ส่วนตัวไม่เคยได้รับการร้องเรียนหรือมีหลักฐานชัดเจน เป็นเพียงข้อครหาที่พูดต่อๆ กัน แต่แม้จะแค่พูดต่อๆ กัน ต่อไปจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยจะแก้ปัญหาทุจริตให้ได้ภายใน 6 เดือน การโยกย้ายครูและผู้บริหารสถานศึกษาต่อจากนี้ไปจะต้องโปร่งใสและเป็นธรรม
"ยังไม่มีการร้องเรียนอย่างเป็นทางการเรื่องการโยกย้ายครู หรือผู้บริหารโรงเรียน ที่เรียกเงินกันตามระยะทาง แต่เป็นเรื่องที่พูดต่อๆ กันว่าถ้าจะย้ายต้องจ่ายให้กิโลเมตรละแสนบาท อีกทั้งได้ยินว่าการโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนก็เรียกรับเงิน ฉะนั้น แม้จะเป็นคำกล่าวอ้างที่พูดต่อๆ กัน ผมจะไม่นิ่งเฉย จะเข้าไปตรวจสอบจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยจะเคลียร์ระบบการโยกย้ายครูใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้มีทุจริตเกิดขึ้นในอนาคต เพราะหากปล่อยไว้จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของ สพฐ. วันนี้พวกเราได้พิสูจน์ตัวเองหลายเรื่องไม่ว่าเป็นเรื่องการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย การสอบคัดเลือกตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ที่ไม่มีการเรียกรับเงินแม้แต่บาทเดียว ผมก็ไม่เคยได้รับเงินในการโยกย้ายครูแม้แต่บาทเดียว" นายกมลกล่าว
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวว่า ที่ สพฐ.จัดสอบแข่งขันครูผู้ช่วยและพบผู้เข้าสอบมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริต 6 ราย ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เลย เขต 2 และการสอบคัดเลือกรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา ก็พบข้อสอบผิดพลาดหลายข้อนั้น ยอมรับว่าทำให้ความน่าเชื่อถือของ ศธ.ลดลงไปบ้าง แต่ก็ต้องเข้าใจ อย่างการสอบครูผู้ช่วยที่มีผู้เข้าสอบหลายแสนคน การที่กรรมการคุมสอบสามารถจับตัวผู้กระทำการทุจริตได้ทันที หมายความว่ากรรมการคุมสอบเข้มงวด ต้องขอชื่นชม สพฐ.และกรรมการคุมสอบที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการสอบครูผู้ช่วยมักมีปัญหาทุจริตเกิดขึ้น พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวว่า ยอมรับว่าการสอบแต่ละครั้งมักมีเรื่องทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งมีผู้เข้าสอบหลายแสนคน ดังนั้นต่อไปอาจต้องมีมาตรการป้องกันปัญหาการทุจริตเข้มข้นมากขึ้น ส่วนการตรวจสอบกรณีการทุจริตการสอบครูผู้ช่วยเมื่อปี 2556 ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงอดีตผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ.หลายคนนั้น ได้เร่งรัดให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ เร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ที่ผ่านมาคณะกรรมการสอบสวนวินัยฯ ได้แต่เสนอขอขยายการสอบสวนออกไป โดยให้เหตุผลว่าการสืบหาข้อมูลยังไม่เรียบร้อย
Advertisement
นายสุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า การสอบครูผู้ช่วยประจำปี 2558 ซึ่ง มสด.รับหน้าที่เป็นผู้ออกข้อสอบ จัดส่งข้อสอบ และเฉลยคำตอบนั้น มีผู้เข้าสอบบางคนวิพากษ์วิจารณ์ข้อสอบว่ายากมาก ไม่ครอบคลุม และไม่ได้มาตรฐาน ตนขอทำความเข้าใจว่าการออกข้อสอบภาค ก ความรู้ทั่วไป วิชาความรอบรู้ วิชาความสามารถทั่วไป และวิชาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครูนั้น สพฐ.เป็นผู้กำหนดโครงสร้างข้อสอบ ส่วน มสด.มีหน้าที่ออกข้อสอบให้กระจาย ครอบคลุมทุกหลักสูตรและเนื้อหาตามโครงสร้างหลักสูตรอย่างครบถ้วน
นายสุขุมกล่าวว่า ส่วนความยากของข้อสอบนั้น เนื่องจากข้อสอบคัดเลือกบุคคลเป็นข้อสอบที่ใช้เพื่อการสอบแข่งขัน ไม่ใช่สอบได้ หรือสอบตกเหมือนการสอบเลื่อนชั้นเรียน ดังนั้น จึงต้องเป็นข้อสอบที่สามารถจำแนกคนกลุ่มที่มีความสามารถสูง และศักยภาพสูงออกมาให้ได้ ข้อสอบแต่ละวิชาจึงมี 3 ส่วน คือ ยาก ปานกลาง และง่าย เพื่อจำแนกว่าคนเก่งที่ตอบได้มากที่สุดสมควรจะอยู่ระดับหัวแถว ลักษณะการถามต้องการให้คิดวิเคราะห์ ไม่ถามความจำ เพราะเชื่อว่าหากครูยังคิดวิเคราะห์ไม่เป็นแล้ว เด็กจะคิดเป็นได้อย่างไร
"ความยากง่ายของข้อสอบนั้น ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสอบ บางข้อก็ง่ายสำหรับบางคน แต่ยากสำหรับบางคน เรื่องนี้ มสด.มีคำตอบ เพราะเรานำข้อสอบไปหาค่าความเชื่อมั่น การกระจาย และเรื่องอื่นๆ ตามหลักวิชา ที่ผ่านมา มสด.ออกข้อสอบต่างๆ มาแล้วหลายสนาม หากมีเรื่องท้วงติงหรือมีข้อสังเกตใดๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ มสด.จะนำไปปรับปรุงในการทำข้อสอบต่อๆ ไป" นายสุขุมกล่าว และว่า จากนี้สวนดุสิตโพลจะออกไปสอบถามความคิดเห็นทั้งผู้ที่สอบได้และไม่ได้ ว่าคิดเห็นอย่างไรกับข้อสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ เพื่อมองให้ครบทุกมิติ เพราะครั้งนี้หากจะมองว่าคุณภาพของนักศึกษาที่มาสอบแย่ ก็อาจจะมองได้ ไม่ใช่มองแค่ว่าข้อสอบไม่ดี ทางกลับกันหากเป็นข้อสอบง่ายๆ แล้วจะได้ครูแบบไหน ทั้งนี้ มสด.พร้อมรับฟังทุกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อนำมาปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น และให้ผู้เข้าสอบทุกคนขอดูคะแนนเป็นรายบุคคลได้ที่ สพฐ.เพื่อความโปร่งใส ถูกต้อง
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน