หวั่นตัดรับการศึกษา “ไม่เสียค่าใช้จ่าย”เป็นประเด็นเรียกเก็บเงินเด็ก
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานในกำกับเพื่อพิจารณาแสดงข้อคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ได้มีการพิจารณาร่าง รธน.ฉบับใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ ศธ. ซึ่งมีหลายมาตราที่อาจจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้พิจารณาเฉพาะมาตราหลัก ได้แก่ มาตรา 52 ที่ระบุว่าพลเมืองย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาที่มีคุณภาพและหลากหลายอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาสายสามัญและอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งมีประเด็นว่าในมาตราดังกล่าวใช้คำว่าพลเมืองบุคคล และประชาชน ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างกันจึงควรมีความชัดเจน เพราะพลเมืองหมายถึงคนไทยในขณะที่ประชาชนหมายถึงคนทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย ซึ่งหมายรวมถึงคนต่างด้าวด้วย นอกจากนี้คำว่าปฐมวัย หมายถึงเด็กช่วงอายุใด 0-6 ปีหรือไม่ ที่สำคัญคือการระบุว่าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
“เรื่องนี้ทราบว่าทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เสนอให้ตัดคำดังกล่าว เพราะเห็นว่ารัฐไม่จำเป็นต้องสนับสนุนทุกคน เพราะมีบางกลุ่มช่วยเหลือตัวเองได้ ในขณะที่ ศธ.เห็นว่าจำเป็นต้องคงไว้ใน รธน. ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นประเด็นว่าจะไปเก็บเงินจากนักเรียน แต่อาจจะมีการปรับถ้อยคำโดยรัฐต้องให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พอเพียง ส่วนรายละเอียดอื่นให้ไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูก” รมว.ศธ. กล่าวและว่า ที่ประชุมยังไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวโดยตรงแก่นักเรียน และเห็นว่าไม่ควรจะกำหนดรายละเอียดเป็นข้อๆ แต่ควรจะเขียนในภาพรวมที่ครอบคลุมเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพราะอาจจะมีเรื่องจำเป็นอื่นๆที่ต้องทำ และมองว่าการลงรายละเอียดใน รธน.จะทำให้แก้ยาก
ทั้งนี้ตนจะรวบรวมความคิดเห็นดังกล่าวเสนอ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกับข้อเสนอของกระทรวงอื่นๆ ก่อนที่จะนำเสนอในนามรัฐบาลต่อไป.
ที่มา ไทยรัฐ 30 เม.ย. 2558