นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ดังนี้ 1.ให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 จำนวน 2.72 ล้านล้านบาท โดยเป็นนโยบายขาดดุลจำนวน 3.9 แสนล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานรายได้สุทธิ จำนวน 2.33 ล้านล้านบาท
โดยมีโครงสร้างงบประมาณเป็นรายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 58 จำนวน 7.29 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.6 คิดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณร้อยละ 77.2 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 1.3 หมื่นล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 58 จำนวน 2.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67.7 คิดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณร้อยละ 0.5 รายจ่ายลงทุน 5.4 แสนล้านบาท เพิ่มขิ้นจากปีงบประมาณ 58 จำนวน 9.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.9 คิดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณร้อยละ 20
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เน้นงบบริหารจัดการน้ำ เช่น การเพิ่มพื้นที่ชลประทานและพื้นพัฒนาพื้นที่นอกชลประทาน โครงสร้างพื้นฐานบางส่วน เช่น การยกระดับทางเข้าสู่พื้นที่เกษตรของกรมทางหลวงชนบท และการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สายและการเชื่อมโยงการขนส่วระหว่างประเทศรวมถึงโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆ เช่น การก่อสร้างอาคารของกระทรวงสาธารณสุข
สำหรับรายจ่ายชำระเงินต้นเงินกู้ 6.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 58 จำนวน 6.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.3 คิดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณร้อยละ 2.3 ทั้งนี้งบประมาณขาดดุลจำนวน 3.9 แสนล้านบาท ยังอยู่ในกรอบวงเงินชดเชยการขาดดุลตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ที่วงเงิน 5.9 แสนล้านบาท โดยอยู่บนสมมุติฐานจีดีพีที่ 13.3 ล้านล้านบาท
โดยงบประมาณปี 59 แบ่งออกเป็น 9 ยุทธศาสตร์ ซึ่งยุทธศาสตรที่มีวงเงินมากที่สุดคือ ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรมและคุณภาพชีวิต จำนวน 9.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.6 อันดับสอง คือ รายการค่าดำเนินการภาครัฐ วงเงิน 5.4 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20
สำหรับงบประมาณปี 59 รายกระทรวง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ๆ รวม 30 แห่ง ซึ่งรายจ่ายสูงสุดคือ กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 5.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 58 จำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.8 อันดับสองงบกลาง จำนวน 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 58 จำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการจ่ายเงินเดือนและการจ่ายบำเน็จบำนาญข้าราชการ
นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้สำนักงบประมาณไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 และเอกสารประกอบงบประมาณและให้ส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและแจ้งผลให้สำนักงบประมาณทราบโดยตรงก่อนเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 12 พ.ค. เพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
"ที่ประชุมยังมีมติให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น พิจารณาเตรียมการให้เกิดความพร้อมในการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับงบประมาณรายจ่ายปี 59 โดยไม่ก่อหนี้ผูกพันก่อน เพื่อให้สามารถดำเนินการก่อหนี้ผูกพันได้ เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณฯ มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว เพื่อปิดช่องโหว่การบริหารงบประมาณให้เกิดความพร้อมมากขึ้นในการเบิกจ่ายงบประมาณไตรมาสสอง และไตรสามต่อไป"
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 28 เม.ย 2558