ทรงเป็นต้นแบบของการใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา ค้นคว้าเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจใดทั้งในหรือต่างประเทศจะทรงศึกษาเรียนรู้อย่างสนพระทัย
ปี 2558 นี้นับเป็น “ปีมหามงคล” ของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเกิดขึ้นทั้งแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน เป็นต้นมา ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีคุณูปการต่อประชาราษฎร์อย่างหาที่สุดมิได้ด้วยพระราชกรณียกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ราษฎรอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา อย่างใส่พระทัยด้วยพระวิริยอุตสาหะและพระเมตตา จากพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเพื่อคนไทยทั้งชาตินั้นคงนำมาเทิดพระเกียรติไม่มีวันหมดอย่างแน่นอน ครั้งนี้จึงขอนำเพียงบางเสี้ยวจากพระจริยวัตรของพระองค์ที่ทรงเป็นต้นแบบยอดครูของแผ่นดินให้แก่ประชาราษฎร์โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวงการครู ได้เจริญรอยตามพระยุคลบาท เพื่อจะได้เป็นครูดี มีคุณภาพเป็นครูมืออาชีพ ได้อย่างแท้จริง
ทั้งด้านพระปรีชาสามารถ พระวิสัยทัศน์กว้างไกลและล้ำลึกด้านการศึกษา จนนำมาแห่งคุณูปการต่อการศึกษาของชาติอย่างหาที่สุดมิได้แล้ว ยังทรงเป็นต้นแบบของการใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา ค้นคว้าเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจใดทั้งในหรือต่างประเทศจะทรงศึกษาเรียนรู้อย่างสนพระทัย ใส่พระทัยด้วยพระวิริยอุตสาหะไม่เห็นแก่ความเหนื่อยในพระวรกายแต่อย่างใด จนเกิดเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ใช้แก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทความเป็นไทยในหลากหลายลักษณะทั้ง รูปแบบ วิธีการ โครงการ งานพระราชนิพนธ์ งานแปล ที่เกิดคุณค่าอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาคนไทยทั้งชาติ
ทรงพระอัจฉริยภาพด้านการจัดการเรียนรู้ ที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้เด็กได้รับทั้งคุณภาพชีวิตและเรียนรู้อย่างมีความสุข ดังพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า “ครูต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้ทางด้านจิตวิทยา ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข อาชีพครูถือว่าสำคัญยิ่ง เพราะครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน สู่การพัฒนาประเทศให้เจริญมั่นคง” การเป็นครูของพระองค์ที่ทรงปฏิบัติหน้าที่สอนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จะทรงศึกษา วางแผน ออกแบบการจัดการเรียนรู้ จัดสื่อ นวัตกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาเพื่อให้มีความพร้อมกับการสอนโดยทรงปฏิบัติเช่นนี้มาโดยตลอด นอกจากนั้นยังทรงให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนาความรู้และพัฒนาประเทศ พระองค์ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการของโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ส่งผลให้เกิดโครงการต่าง ๆ ที่ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการพัฒนาการศึกษาโรงเรียนในชนบท และการศึกษาของคนพิการ รวมถึง การเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ต้องขังในทัณฑสถานได้รับการอบรมและฝึกทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์อีกด้วย
ทรงเป็นนักอ่าน ความใส่พระทัย สนพระทัย การอ่านนั้นเป็นที่ประจักษ์กับประชาชนทุกหมู่เหล่า ทั้งในและต่างประเทศ ด้วยพระจริยวัตรที่เห็นกันจนเคยชิน คือ การอ่าน การบันทึกและฉายพระรูป ซึ่งเป็นการเรียนรู้ตลอดเวลาอย่างไม่รู้จบของพระองค์ เมื่อเสด็จพระราช ดำเนินไปประเทศใด จะทรงเยี่ยมและทรงดูงานห้องสมุดชั้นนำของประเทศนั้น ๆ แล้วนำมาพระราชทานข้อเสนอแนะให้แก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำไปพัฒนาห้องสมุดสถานศึกษา ห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดประชาชนเฉลิมราชกุมารี พร้อมส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีนิสัยรักการอ่านโดยเฉพาะครูจะต้องอ่านให้มาก ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ครูบางคนมาบอกว่า กลัวหมดความหมายถ้านำระบบใหม่ (การศึกษาด้วยเทคโนโลยีการสอนทางไกล) เข้ามาใช้ ข้าพเจ้าคิดว่า หากครูไม่ปรับปรุงตน คงหมดความหมายแน่ เพราะระบบการศึกษาเช่นนี้เป็นแนวโน้มที่ใช้กันในอนาคต ครูต้องปรับตัวโดยจะต้องอ่านมาก การให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางนั้น ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่าเป็นการให้ครูเป็นศูนย์กลางด้วยเช่นกัน ถ้าครูจะเกณฑ์ให้นักเรียนอ่านโดยครูไม่อ่านนั้นไม่ได้ ครูจะต้องอ่านมากและศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ ให้มากอยู่เสมอ ไม่ใช่เอาแต่ความรู้ที่เรียนมาจากวิทยาลัยครูเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วมาฉายซ้ำซากแต่เพียงอย่างเดียว ต้องสามารถแนะเด็กได้ว่า หากต้องการรู้เรื่องอะไรจะไปหาความรู้ได้ที่ไหน...จากพระราชดำรัสดังกล่าว การอ่านจึงมีความสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ทั้งของครู ผู้เรียน และประชาชน”
ทรงเป็นนักจดบันทึก ทรงมีพระวิริยอุตสาหะในการแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปที่แห่งใดจะทรงศึกษาเรื่องนั้น ๆ อย่างใส่พระทัย และจะทรงจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยลายพระหัตถ์ แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่พระองค์ก็ยังทรงใช้วิธีการจดบันทึกด้วยลายพระหัตถ์เช่นเดิมด้วยจะทำให้เกิดความจำที่คงทน จากทรงโปรดการอ่าน จดบันทึก ฉายพระรูป และพระปรีชาสามารถด้านภาษาไทยรวมถึงภาษาต่างประเทศ จึงเกิด งานพระราชนิพนธ์ งานแปล มากกว่า 400 เรื่อง นอกจากนั้น ยังทรงพระปรีชาสามารถด้านพระราชนิพนธ์เพลง ซึ่งบทเพลงที่โด่งดังนำมาขับร้องกันมาก อาทิ เพลงส้มตำ เพลงรัก เพลงเมนูไข่ เป็นต้น
ทรงพระปรีชาสามารถด้านภาษา ทรงเชี่ยวชาญทั้ง ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน เยอรมัน เขมร ภาษาละติน ฯลฯ โดยเฉพาะภาษาจีนจะทรงโปรดเป็นพิเศษ ทรงศึกษาจนแตกฉาน ส่วนภาษาไทยทรงศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งทั้งด้านภาษาและวรรณคดี จากพระปรีชาสามารถด้านภาษาจนเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านภาษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศหลายแห่ง
ทรงพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรี ทรงดนตรีได้ทั้งดนตรีไทย สากลและดนตรีพื้นเมือง ทั้งระนาดเอก ซอสามสาย ซออู้ จะเข้ ฆ้อง วง ฯลฯ ดนตรีพื้นเมือง อาทิ โปงลาง สะล้อ ส่วนดนตรีสากล ทรงเรียนเปียโน ตั้งแต่พระชนมายุ 10 พรรษา ทรงฝึกดนตรีสากลประเภทเครื่องเป่า ทรัมเป็ต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระองค์จึงเป็นที่ประจักษ์ของคนไทยทั้งชาติที่จะได้เห็นทรงดนตรีไทยร่วมกับนักเรียน นักศึกษา ครูอาวุโส อยู่เนือง ๆ จน ครูเสรี หวังในธรรม ได้กล่าวไว้ว่า “ดนตรีไทยไม่สิ้นแล้ว เพราะพระทูลกระหม่อมแก้วเอาใจใส่”
ทรงพระปรีชาสามารถงานศิลปะ เมื่อเสด็จฯ ต่างประเทศจะโปรดให้จัดรายการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ โดยเฉพาะศิลปวัฒนธรรมของประเทศจีน ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ ทรงศึกษาศิลปะการวาดของจีน และทรงวาดได้ด้วยความชำนาญเกิดภาพที่ให้ความหมายอย่างลึกซึ้ง ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์ของพระองค์หลายเรื่องรูปภาพจะเกิดจากฝีพระหัตถ์ของพระองค์ทั้งสิ้น
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถ มีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล พระวิริยอุตสาหะเป็นเลิศ ทรงมีพระเมตตาต่อประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่า ทรงเป็นนักปราชญ์ที่เรียนรู้อย่างไม่รู้จบ พระราชกรณียกิจของพระองค์จึงส่งต่อคุณภาพชีวิตพสกนิกรมาโดยตลอดคนไทยทั้งชาติและคุณครูทั้งแผ่นดินจึงต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้นี้ไว้เหนือเกล้าฯ ด้วยการดำเนินตามรอยยุคลบาท ทั้งเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และหน้าที่ที่รับผิดชอบด้วยความเอาใจใส่ มุ่งมั่นทุ่มเท ทำเต็มที่ เต็มเวลา เต็มกำลังความสามารถที่มีอยู่ หากทุกคนประพฤติปฏิบัติตนเองได้เช่นนี้นอกจากประเทศชาติจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพแล้วยังจะช่วยแบ่งเบาพระราชหฤทัยกับความห่วงใยในคุณภาพชีวิตของคนในชาติของพระองค์ได้บ้าง หากทุกฝ่ายทำได้เช่นนี้ก็ถือว่าได้ร่วมกันเฉลิมพระเกียรติพระองค์ได้ทางหนึ่งแล้วนั่นเองนะครับ.
กลิ่น สระทองเนียม
ที่มา เดลินิวส์ วันอังคารที่ 28 เมษายน 2558