ทปอ.หวั่นอาจารย์มหา'ลัยออกข้อสอบแกต-แพต-9 วิชาสามัญ เอื้อประโยชน์ให้ลูกหลานตนเอง กำชับเข้มหากปีใดมีลูกหลานสอบต้องไม่ร่วมออกข้อสอบ เตรียมประสาน สทศ.เพิ่มสนามสอบรองรับเด็กสอบ 9 วิชาสามัญมากขึ้น
วันนี้ (27 เม.ย.) ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมทปอ.เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือกรณีการออกข้อสอบวิชาความถนัดทั่วไป หรือแกต การสอบวิชาความถนัดทางวิชาการ/วิชาชีพ หรือ แพต และการออกข้อสอบ 9 วิชาสามัญ ซึ่งเป็นคะแนนที่มหาวิทยาลัยนำไปใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิต นักศึกษา หรือแอดมิชชั่น และระบบรับตรง โดยจัดสอบและออกข้อสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งที่ผ่านมา สทศ. จะคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมออกข้อสอบด้วย โดยที่ประชุมมีข้อกังวลว่าหากผู้ทรงคุณวุฒิคนใดมีลูกหลาน หรือญาติที่จะเข้าสอบในปีการศึกษานั้นๆ ก็อาจจะเอื้อประโยชน์ให้แก่ลูกหลานของตนเองได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส เป็นธรรม และเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับเด็กคนอื่น
"ที่ประชุมจึงมีมติให้ประมวลรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งทำหน้าที่ออกข้อสอบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดทำเป็นทำเนียบรายชื่อผู้ออกข้อสอบส่งให้ สทศ. พร้อมทั้งกำชับผู้ทรงคุณวุฒิทุกคนว่า ในปีใดหากมีลูกหลาน หรือญาติที่พี่น้องเข้าสอบแกต แพต และ 9 วิชาสามัญ ทางผู้ทรงคุณวุฒิต้องสละสิทธิ์ในการร่วมออกข้อสอบ เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน" ประธาน ทปอ. กล่าวและว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้ประสานไปยัง สทศ. โดยขอให้จัดสนามสอบเพิ่มเติม เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่คาดว่าจะเข้าสอบ 9 วิชาสามัญมากขึ้น จาก 1.7 แสนคน เป็น 2.5 แสนคน ซึ่งการเพิ่มจำนวนสนามสอบในครั้งนี้ จะทำให้เด็กไม่ต้องเดินทางมาสอบที่ศูนย์สอบเพียงแห่งเดียว แต่สามารถเลือกสนามสอบใกล้บ้านได้ ทำให้เด็กไม่ต้องเดินทางไกล และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย.
ที่มา เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 27 เมษายน 2558