ค้นหาทุกอย่างในเว็บครูบ้านนอก :
ชุมชนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน แหล่งความรู้สำหรับครู นักเรียน ข่าวการศึกษา ห้องสมุดความรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และความรู้ทั่วไป เผยแพร่ผลงานวิชาการ ที่นี่


ข่าวการศึกษา     ความรู้ทั่วไป     งานราชการ/รัฐวิสาหกิจ/บริการสังคมบทความการศึกษา  ▶ ข่าว/บทความ ▶ หน้าแรก

ซุปเปอร์บอร์ดจะเป็นอัศวินม้าขาว ทางการศึกษาไทยได้หรือ


บทความการศึกษา 27 เม.ย. 2558 เวลา 11:21 น. เปิดอ่าน : 10,885 ครั้ง
Advertisement

ซุปเปอร์บอร์ดจะเป็นอัศวินม้าขาว ทางการศึกษาไทยได้หรือ

Advertisement

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

รายการคืนความสุขให้คนไทย โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงปัญหาการศึกษาของไทย และมีแนวคิดจะตั้งซุปเปอร์บอร์ดมาเป็นผู้ขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาที่หมักหมมเรื้อรังมายาวนาน โดยเบื้องต้นได้วางเป้าหมายไว้ 6 ยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ ด้วยกัน และ 6 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวตรงกับปัญหาทางการศึกษาของไทยจริงๆ

ผู้เขียนหวังว่า ซุปเปอร์บอร์ดดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ตามที่ต้องการ เพราะปัญหาทางการศึกษาของไทยมีมากมาย เช่น ปัญหาการปฏิบัติงานของเขตพื้นที่การศึกษาที่มีพื้นที่รับผิดชอบกว้างขวางเกินไป (ดูแลหลายจังหวัด) ปัญหาการขาดเอกภาพของเขตพื้นที่ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่ต่างคิด ต่างทำ ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในระดับจังหวัดด้านการศึกษาที่สามารถควบคุมนโยบายและสั่งการให้ผู้บริหารระดับเขตเป็นหนึ่งเดียวควรจะมีหรือไม่ รวมถึงระดับกระทรวงควรมีตำแหน่งที่สามารถบริหารจัดการ 5 แท่งทางการศึกษาของไทย ที่ต่างคิดต่างทำเช่นกัน

และปัญหาร้อนๆ ล่าสุด คือปัญหาผลคะแนน O-net ในภาพรวมยังไม่ดีขึ้น แต่ก็พอมีความหวังอยู่บ้างคือ ผล O-net ของโรงเรียนขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งที่อยู่ในโครงการดาวเทียม DLTV มีผล O-net สูงขึ้นอย่างน่าทึ่ง และ 6 ยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีน่าจะเป็นแรงหนุนให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนคิดว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ฉุดรั้งในการพัฒนาและคุณภาพการศึกษาของไทย ผู้เขียนจึงขอเสนอแนะปัญหาและแนวทางพัฒนาดังนี้

1.ยุทธศาสตร์ระดับประถมศึกษา นักเรียนต้องอ่านออกเขียนได้ และให้มีการประเมินติดตามอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน และเข้มข้น ซึ่งตรงกับปัญหามากที่สุด เพราะถ้านักเรียนยังเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก ไม่พร้อมที่จะเลื่อนชั้นเรียนไปในชั้นที่สูงขึ้นได้ การเรียนซ้ำชั้นของผู้เรียนมีความจำเป็นหรือไม่ อย่างไร ซึ่งในปัจจุบันจำนวนนักเรียนต่อห้องก็มีน้อย และจำนวนนักเรียนในโรงเรียนบางโรงไม่ถึง 100 คน โรงเรียนดังกล่าวมีครูค่อนข้างพร้อม แต่ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ยังมีอยู่ ฉะนั้นผู้บริหารในระดับเขต ระดับโรงเรียน และครูอาจารย์จะต้องมีส่วนรับผิดชอบหรือไม่

2.ยุทธศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ให้มีการเลือกวิชาชีพ ประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง ซึ่งปัจจุบันในโรงเรียนจัดอยู่แล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงเรียน แต่โรงเรียนมักจะจัดเป็นวิชาเลือกหรือวิชาเพิ่มเติม ปัญหาสำคัญคือนักเรียนไม่เลือกในรายวิชาที่เป็นวิชาชีพ เพราะนักเรียนถูกฝึกให้สบายไม่ต้องรับผิดชอบ เรียนแล้วเหนื่อยต้องออกแรงฝึกปฏิบัติ และกระแสด้านวิชาชีพในโรงเรียนมัธยมไม่เป็นที่นิยมของผู้เรียน นักเรียนมุ่งที่จะเรียนแต่สายสามัญทั้งๆ ที่ตัวเองไม่พร้อมที่จะเรียน เกรดเฉลี่ย 1.50 ก็อยากเรียนสายวิทย์-คณิต นักเรียนเลือกตามเพื่อนหรือตามกระแส

ผู้เขียนใคร่ขอเสนอว่าควรรื้อฟื้นโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสมขึ้นมาใหม่ โดยสอนวิชาสามัญและวิชาชีพในระดับ ม.ต้น ผลดีคือนักเรียนจะมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ/นักเรียนสามารถประเมินตนเองได้ว่าเมื่อจบชั้น ม.3 อย่างเช่นเด็กในประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งนักเรียนสามารถนำเอาความรู้ด้านเทคนิค/ด้านวิชาชีพที่เรียนมาปรับมาใช้หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ซ่อมไฟฟ้า/ซ่อมรถจักรยานยนต์/จักรยาน เบื้องต้นได้ และที่สำคัญกระทรวงศึกษาธิการจะได้ลดภาระในการรณรงค์ให้นักเรียนเข้าเรียนสายอาชีพลงได้ไม่มากก็น้อย และไม่ต้องเสียงบประมาณของรัฐมาจ้าง (ให้ทุน) ให้นักเรียนเข้าเรียนในสายอาชีพที่กำลังคิดกันอยู่ในขณะนี้

ในประเทศสิงคโปร์ได้พัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งพัฒนาทางวิชาชีพ ซึ่งได้บรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศชาติ มีการจัดตั้งชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) ทั้งนี้เพื่อวางรากฐานวิชาชีพให้กับประเทศและมีนโยบายให้โรงเรียนตั้งชุมชนวิชาชีพขึ้นในโรงเรียนนำร่องขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ แต่ผู้เขียนเป็นห่วงว่าเมื่อเดินหน้าโครงการใดแล้วอย่าเปลี่ยน อย่าทิ้งโครงการเสียเฉยๆ เหมือนที่ผ่านมา ดังเช่นโครงการโรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง หรือโครงการผู้นำอาเซียนที่ดูซบเซาลง

ประเด็นนี้น่าจะเป็นโอกาสดีของประเทศไทย จะได้มีแรงงานทั้งในระดับล่าง กลาง สูง รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และพร้อมที่จะแข่งขันในระดับอาเซียนและนานาชาติได้ และที่สำคัญสามารถลดการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้ไม่มากก็น้อย มีผลให้แรงงานไทยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยตนเองโดยไม่พึ่งพาแรงงานจากต่างชาติ ดังเช่นปัจจุบัน

3.ยุทธศาสตร์ให้มีการเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับการส่งเสริมวิชาชีพและอาชีพ ให้ตรงกับตลาดแรงงานและความต้องการของตลาดแรงงาน ประเด็นนี้สำคัญเช่นกันและขอยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์อีกเช่นเคย สิงคโปร์วางพื้นฐานของการศึกษาเยาวชนไว้ 4 เป้าหมายคือ 1.เพื่อชาติ 2.เพื่อการศึกษาและพัฒนา 3.เพื่อการปฏิบัติและฝึกทักษะ 4.เพื่อการมีส่วนร่วมสู่วิชาชีพ ทั้ง 4 ภารกิจนี้ให้ถือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสิงคโปร์โดยให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปขยายผลและปฏิบัติ คิดการวัดและประเมินผลควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยเน้นสร้างและส่งเสริมการคิด การสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา สร้างเจตคติ การทำงานร่วมกัน ความสนใจใฝ่รู้สร้างนิสัย ความอดทน ความเพียรพยายาม และปลูกฝัง การค้นคิดนวัตกรรมใหม่ (New Inonvation) และการค้นหาสิ่งใหม่ๆ มาสร้างประเทศ

ผู้เขียนจึงเสนอว่าควรเพิ่มและตัดรายวิชาที่เป็นขยะในการเรียนของเด็กลงและควรเพิ่มรายวิชาที่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน เช่น วิชา โลจิสติกส์ (Logistics) วิชาการค้าระหว่างประเทศ วิชาการเงินและการคลัง เป็นพื้นฐานให้กับนักเรียน ตั้งแต่ระดับมัธยมจนถึงระดับอุดมศึกษา เป็นการเตรียมคนเข้าสู่วิชาชีพ จึงถึงเวลาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการควรกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับสังคมโลกในศตวรรษที่ 21

4.ยุทธศาสตร์ระดับอุดมศึกษา เน้นการวิจัยและเชื่อมกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม
ด้านการวิจัยเป็นเรื่องควรเร่งและส่งเสริมโดยด่วนเพราะเป็นพื้นฐานในเชิงพัฒนาประเทศทุกๆ ด้าน แต่ถ้าดูผลการประเมินประจำปี 2014 ของ World Economic Forum พบว่าด้านการวิจัยและบริการ ระดับกลุ่มอาเซียนประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 5 (1.สิงคโปร์ 2.มาเลเซีย 3.อินโดนีเซีย 4.ฟิลิปปินส์ 5.ไทย) และอยู่ในลำดับ 61 ของโลก

ผู้เขียนจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งด้วยแนวทางของท่านนายกรัฐมนตรี เพราะงานวิจัยเป็นพื้นฐานเชิงข้อมูลที่สำคัญนำไปสู่การค้นคิดนวัตกรรมใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ผู้เขียนอยากฝากผู้เกี่ยวข้องว่าทำอย่างไร สอนให้น้อยลงแต่เรียนรู้และปฏิบัติให้มากขึ้น สอนด้วยโครงงาน จัดการศึกษาโดยมองพื้นฐานการตลาดและความต้องการของประเทศและของโลก การศึกษาเพื่อประกอบอาชีพเป็นสำคัญ มุ่งผลิตบุคลากรให้สอดคล้องตามความต้องการกับตลาดแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการของไทยเราควรวางเป้าหมายการผลิตบุคลากรในระดับ Polytechnic ให้มากกว่าการผลิตบุคลากรทางวิชาการหรือเป้าหมายงานราชการหรือมนุษย์เงินเดือน ในประเทศสิงคโปร์มีมุมมองในการตั้งสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพหรือธุรกิจให้อยู่ในย่านอุตสาหกรรม ย่านเคหกิจ

ทั้งนี้ให้ผู้เรียนได้เห็นและสัมผัส เห็นการแข่งขันเชิงธุรกิจ และสิงคโปร์ยังนำห้องสมุดแห่งชาติ (National Library) ไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า เพราะสถานที่ดังกล่าวเป็นแหล่งรวมของเยาวชน ทั้งนี้เพื่อเอื้อให้เยาวชนเข้าถึงได้สะดวกและง่ายมากขึ้นในการศึกษาค้นคว้า ในประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง ไทเป นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 90-95% จะเรียนและทำงานไปด้วย โดยไม่พึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้ปกครอง ซึ่งตรงกันข้ามกับเด็กนักศึกษาไทยที่ผู้ปกครองจะต้องดูแลเกือบตลอดชีวิต

5.ยุทธศาสตร์ยกระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษการยกระดับความสามารถทางภาษาเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเราได้ตื่นตัวมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่พอตรวจสอบวัดหรือประเมินผลออกมาก็ยังไม่ดี ยังไม่เป็นที่พอใจ ถ้าเทียบเคียงในระดับอาเซียนแล้วไทยอยู่ลำดับที่ 4 ที่ 5 ทั้งๆ ที่เด็กไทยเริ่มเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่อนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย ร่วมๆ 10 ปี แต่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ภาษาอังกฤษจึงเป็นยาขมหม้อใหญ่ของเด็กไทย ในประเทศมาเลเซียจะจัดทำแผ่นซีดีแจกให้โรงเรียนนำไปฝึกไปสอนเหมือนกันทั้งประเทศ ฝึกอ่านฝึกออกเสียง เป้าหมายคือ อ่านออก พูดได้ มาเลเซียจึงเป็นของดีราคาถูก ยิ่งตอนนี้มีกระแสข่าวว่าจะนำโมเดลประเทศฟินแลนด์มาใช้พัฒนาการศึกษาของไทย ฟินแลนด์กับไทยต่างกันมากๆ ในบริบทของประเทศเกือบทุกด้าน

ผู้เขียนคิดว่าอย่าเลย เพราะตัวอย่างใกล้บ้านเรามีดีๆ ให้ดู ให้เห็น และนำมาเป็นตัวอย่างได้ และที่มันแย่ๆ ในขณะนี้ก็เอามาจากยุโรป อเมริกา ไม่ใช่หรือ (ไม่ได้แย่ทั้งหมด) ปัญหาการสอนภาษาอังกฤษในไทยเป็นปัญหาเดิมๆ ทั้งๆ ที่หลายโรงเรียนพยายามดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่ยังมีโรงเรียนอีกเกินครึ่งของไทยที่ยังไม่พร้อม ไม่มีทั้งครูเจ้าของภาษา ไม่มีงบประมาณที่จะว่าจ้างครูชำนาญการทางภาษามาฝึกมาสอน ครูด้านภาษาที่มีอยู่แล้วก็ไม่พร้อมที่จะสอนภาษาได้ในระดับมาตรฐานสากล ครูไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตรงข้ามกับประเทศฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ครูจะถูกฝึกอย่างเข้ม 300-500 ชั่วโมง ทุก 3 ปี เป็นต้น และถ้านำมุมมองจากต่างประเทศในมิติทางภาษาของไทยแล้ว พบกับความเจ็บปวด เพราะคนไทยรู้แต่ภาษาของตัวเองคือภาษาไทย การศึกษาของไทยไม่ทันและสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก คนไทยไม่พร้อมในเวทีโลก คนไทยมองอนาคตไม่เป็น เป็นต้น

ผู้เขียนใคร่ขอเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมด้านภาษาอังกฤษโดยใช้ยุทธศาสตร์โรงเรียนพี่ โรงเรียนน้อง โดยคัดเลือกโรงเรียนขนาดใหญ่ประจำจังหวัด ประจำอำเภอ ทั้งมัธยมและประถมศึกษา รวมภาครัฐและเอกชนที่มีความพร้อมด้านการบริหารจัดการ/ด้านบุคลากร ให้เป็นศูนย์พัฒนาทางภาษาอังกฤษ โดยใช้ศูนย์ภาษาในโรงเรียนมัธยมในแต่ละภาคเป็นศูนย์ (ERIC-English Resource Intruction Center) บริหารจัดการที่ผ่านมา ทำแต่ไม่เต็มที่ไม่ต่อเนื่อง และที่สำคัญขาดการติดตามและประเมินที่ชัดเจนและเข้มข้น ขาดงบประมาณ

ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ทางภาษา เพราะนโยบายโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องมีอยู่แล้ว ศูนย์ภาษาในแต่ละภาคมีอยู่แล้วเพียงแต่นำมาบริหารจัดการใหม่ โรงเรียนหลักๆ ข้างต้นทั่วประเทศเกือบ 5,000 โรงเรียน โดยสร้างเครือข่ายทางภาษาอังกฤษ โรงเรียนละ 3-5 โรงเรียน เราก็สามารถมีโรงเรียนที่ได้รับการฝึกและพัฒนาทางภาษาทั้งครูและนักเรียนทั้งประเทศได้เกือบ 20,000-30,000 โรง จึงขอฝากไปยังซุปเปอร์บอร์ดลองพิจารณาดู

6.ยุทธศาสตร์ด้านการผลิตครูประเด็นการผลิตครูผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะครูเป็นวิศวกรที่ผลิตคน สร้างคน และคนเป็นครูไม่ใช่สอนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่ควรสอนนักเรียนด้วย (สอนคุณธรรม-จริยธรรม) แต่ปัจจุบันเรามีครูสอนหนังสือมากกว่าครูสอนคุณธรรม-จริยธรรม สายใยและความรักระหว่างครูกับนักเรียนมีน้อยลง ความผูกพันระหว่างครูและนักเรียนมีระยะห่างมากขึ้น การที่ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้เห็นความสำคัญด้านนี้ และผู้เขียนในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นหรือแนวทางการปฏิรูปการศึกษา และผู้เขียนได้ไปศึกษาดูงานการผลิตครูในประเทศเกาหลีใต้เมื่อหลายปี พบว่ามี 2 ระบบคือ วิทยาลัยครู ผลิตครูเพื่อสอนระดับประถมศึกษา นักศึกษาครูจะได้รับทุนยกเว้นค่าลงทะเบียนและอื่นๆ เมื่อจบแล้วต้องไปเป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษาอย่างน้อย 4 ปี

อีกระบบคือวิทยาลัยวิชาการศึกษาหลักสูตร 4 ปี ผลิตครูสอนระดับมัธยมศึกษา มหาวิทยาลัยอื่นๆ ผลิตครูจะต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลและต้องรับรองคุณภาพเท่านั้น นอกจากนั้นเกาหลีใต้ได้วางแผนสร้างระบบการศึกษาใหม่ (New Education System) โดยตั้งมหาวิทยาลัยทางการศึกษา Korea National University of Education เพื่อผลิตครูชั้นนำที่สามารถสอนและวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา รวมทั้งผลิตครูให้เป็นผู้นำในการปฏิรูปการศึกษา มีบทบาทในการฝึกอบรมและวิจัยทางการ เกาหลีใต้เจริญก้าวหน้ามาได้ทุกวันนี้

การผลิตครูโครงการคุรุทายาทจะถูกรื้อฟื้นขึ้นมา เพราะโครงการคุรุทายาทเป็นโครงการที่ดี ควรนำมาปัดฝุ่นใหม่ แต่ควรเพิ่มความเข้มของความเป็นครูในขั้นสูงสุด ฝึกความรักในวิชาชีพครูให้เขาเป็นครูมืออาชีพ อย่าให้เขาเป็นครูที่มีอาชีพครู ดังที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยกล่าวไว้ การผลิตครูโดยคัดผู้เรียนที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม/มีคุณธรรม-จริยธรรมที่ดี เคารพในสถาบันชาติ/ศาสนา และพระมหากษัตริย์เป็นสูงสุด ใฝ่ในระบอบประชาธิปไตย และเมื่อจบหลักสูตรแล้วรัฐรองรับบรรจุในการทำงาน พร้อมให้ค่าตอบแทนขั้นต่ำที่สูงพอเทียบเท่ากับอาชีพหมอและวิศวกร และควรกำหนดสถาบันที่ผลิตครูเป็นการเฉพาะ ภาคละ 1 แห่ง และส่วนกลาง 1-2 แห่งเท่านั้น ใช้หลักสูตรเดียวกัน การฝึกปฏิบัติเดียวกัน (เทียบเท่าโรงเรียนเตรียมทหาร) และห้ามไม่ให้สถาบันที่ไม่พร้อมผลิตครูโดย เด็ดขาด

การผลิตครูยุคใหม่ ต้องเป็นครูพร้อมที่จะสอนฝึกให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิด/การสื่อสาร/การแก้ปัญหา/การมีส่วนร่วม/และจิตสาธารณะ และครูยุคใหม่ไม่ใช่ครูที่สอน ที่บอกความรู้อีกต่อไป ครูต้องสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิด รู้จักค้นคว้า รู้จักวิเคราะห์และแยกแยะต่างหากที่สำคัญที่สุด เพราะความรู้ยุคใหม่ที่มีในโลกมาอยู่ใกล้ตัวเด็ก หรืออยู่ปลายนิ้วผู้เรียนแล้ว ปรัชญาทางการศึกษายุคใหม่เปลี่ยนไปแล้ว อย่างเช่น ฮ่องกงได้นำหลักคิดอริสโตเติล บิดาการคิดและวิเคราะห์ มาเป็นโมเดลปฏิรูปการศึกษาของฮ่องกงในปี 2000 และฮ่องกงใช้เวลา 10 ปีเศษก็สามารถเปลี่ยนโฉมและคุณภาพทางการศึกษาสู่แนวหน้าของโลกได้ในเวลาอันสั้น

6 ประเด็นที่ท่านนายกรัฐมนตรีคิดและวางเป้าหมายนับว่าน่าจะเป็นอีกยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาทางการศึกษาของไทย และผู้เขียนหวังว่า 6 ประเด็นข้างต้นจะส่งผลต่อผู้เรียน ต่อคุณภาพการศึกษาในอนาคตข้างหน้า และอย่าลืมว่า ถ้าคิดอย่างไทย ทำอย่างไทย บริหารแบบไทยๆ น่าจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการปฏิรูปการศึกษาของไทย

และอยากฝากไปยัง คสช.ว่า ลี กวนยิว สร้างประเทศสิงคโปร์ด้วยการปฏิรูปการศึกษา ปี 2000 ฮ่องกงก็ปฏิรูปการศึกษา ส่งผลให้ฮ่องกงเจริญก้าวหน้าระดับต้นๆ ของโลก 2 ประเทศนี้เราไม่สนใจจะเอามาเป็นต้นแบบบ้างหรือ หรือรอให้ท่านนายกรัฐมนตรีนำเอา ม.44 มาแก้ไข ขับเคลื่อน และเยียวยา


ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 28 เม.ย. 2558 (กรอบบ่าย)


ซุปเปอร์บอร์ดจะเป็นอัศวินม้าขาว ทางการศึกษาไทยได้หรือซุปเปอร์บอร์ดจะเป็นอัศวินม้าขาวทางการศึกษาไทยได้หรือ

Advertisement

≡ เรื่องอื่นๆ ที่น่าอ่าน ≡

เรื่องที่คุณครูต้องอ่าน

เรื่องที่คุณครูต้องอ่าน


เปิดอ่าน 13,084 ครั้ง
หนี้การศึกษา

หนี้การศึกษา


เปิดอ่าน 8,205 ครั้ง

:: เรื่องปักหมุด ::

เหตุใด...บัณฑิตครูเดินไม่ถึงฝัน กระบวนการผลิตหรือระบบการคัดเลือก?

เหตุใด...บัณฑิตครูเดินไม่ถึงฝัน กระบวนการผลิตหรือระบบการคัดเลือก?

เปิดอ่าน 10,561 ☕ คลิกอ่านเลย

Advertisement

≡ เรื่องน่าสนใจในหมวดหมู่นี้ ≡
ข้อสอบเด็กไทย...ปัญหาใหญ่ที่ต้องมอง
ข้อสอบเด็กไทย...ปัญหาใหญ่ที่ต้องมอง
เปิดอ่าน 8,924 ☕ คลิกอ่านเลย

ปฏิรูปการศึกษาส่วนภูมิภาค 6 เดือน กศจ.ไปต่ออย่างไร? โดย อดิศร เนาวนนท์
ปฏิรูปการศึกษาส่วนภูมิภาค 6 เดือน กศจ.ไปต่ออย่างไร? โดย อดิศร เนาวนนท์
เปิดอ่าน 22,530 ☕ คลิกอ่านเลย

ผลึกความรู้นิทรรศการวันครูสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา : เดชาพัชร  สมหมาย
ผลึกความรู้นิทรรศการวันครูสู่การปฏิบัติในสถานศึกษา : เดชาพัชร สมหมาย
เปิดอ่าน 39,110 ☕ คลิกอ่านเลย

งานประจำ 7 ประการของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
งานประจำ 7 ประการของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
เปิดอ่าน 17,112 ☕ คลิกอ่านเลย

ปฏิรูปผู้บริหารสถานศึกษาก่อน ผลจะย้อนมาถึงคุณภาพครู
ปฏิรูปผู้บริหารสถานศึกษาก่อน ผลจะย้อนมาถึงคุณภาพครู
เปิดอ่าน 9,075 ☕ คลิกอ่านเลย

สร้างความรู้ใหม่ คือหัวใจปฏิรูปการศึกษา : เสรี พงศ์พิศ
สร้างความรู้ใหม่ คือหัวใจปฏิรูปการศึกษา : เสรี พงศ์พิศ
เปิดอ่าน 10,446 ☕ คลิกอ่านเลย

≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡

ซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประจำปี 2555
ซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ประจำปี 2555
เปิดอ่าน 9,616 ครั้ง

ออกัสตา แอดา ไบรอน (Augusta Ada Byron) นักคณิตศาสตร์หญิงของโลก
ออกัสตา แอดา ไบรอน (Augusta Ada Byron) นักคณิตศาสตร์หญิงของโลก
เปิดอ่าน 7,678 ครั้ง

เกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
เกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
เปิดอ่าน 22,774 ครั้ง

เรื่องของ"เลข 9" ในวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009
เรื่องของ"เลข 9" ในวันที่ 9 เดือน 9 ปี 2009
เปิดอ่าน 24,512 ครั้ง

เถียงนาน้อย
เถียงนาน้อย
เปิดอ่าน 36,706 ครั้ง

เกมส์ รวมเกมส์สนุกๆ มากมาย
สนามเด็กเล่น

แหล่งรวมเกมส์ เกมส์ให้เล่นมากมาย ศูนย์รวมเกมส์สนุกๆ เกมส์ความรู้ เกมส์ลับสมอง เกมส์ประลองยุทธ แหล่งรวบรวมข้อมูล เกมส์ เกมส์ออนไลน์ เกมส์มันๆ เกมส์ตัดผม ไว้มากมายที่นี่ ให้เด็กๆได้เลือกเล่นมากมาย คลิกเลย

 
หมวดหมู่เนื้อหา
เนื้อหา แยกตามหมวดหมู่ สามารถเลืออ่านได้ตามหมวดหมู่ที่นี่


· Technology
· บทความเทคโนโลยีการศึกษา
· e-Learning
· Graphics & Multimedia
· OpenSource & Freeware
· ซอฟต์แวร์แนะนำ
· การถ่ายภาพ
· Hot Issue
· Research Library
· Questions in ETC
· แวดวงนักเทคโนฯ

· ความรู้ทั่วไป
· คณิตศาสตร์
· วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
· ภาษาต่างประเทศ
· ภาษาไทย
· สุขศึกษาและพลศึกษา
· สังคมศึกษา ศาสนาฯ
· ศิลปศึกษาและดนตรี
· การงานอาชีพ

· ข่าวการศึกษา
· ข่าวตามกระแสสังคม
· งาน/บริการสังคม
· คลิปวิดีโอยอดนิยม
· เกมส์
· เกมส์ฝึกสมอง

· ทฤษฎีทางการศึกษา
· บทความการศึกษา
· การวิจัยทางการศึกษา
· คุณครูควรรู้ไว้
· เตรียมประเมินวิทยฐานะ
· ผลงานวิชาการเล่มเต็ม
· เครื่องมือสำหรับครู

ครูบ้านนอกดอทคอม

เว็บไซต์เพื่อครู ข่าวการศึกษา ความรู้ การศึกษาไทย

      kroobannok.com

© 2000-2020 Kroobannok.com  
All rights reserved.


Design by : kroobannok.com


ครูบ้านนอกดอทคอม
การจัดอันดับของ Truehits Web Directory

วิธีนำแบนเนอร์ของครูบ้านนอก.คอมไปแปะในเว็บท่าน บันทึกภาพแบนเนอร์นี้และลิงค์มาที่เราครับ (มีแบนเนอร์ 2 แบบ)
 

ครูบ้านนอกดอทคอม เว็บไซต์ของครูตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่หวังเพียง ใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร แลกเปลี่ยน เพิ่มพูนความรู้ และให้ข่าวสาร ที่ทันสมัยต่อเหตุการณ์แก่คุณครู ผู้ปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อความเจริญงอกงามในปัญญา และเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ

เว็บนี้ถือกำเนิดเมื่อ 5 มกราคม 2548

Email : kornkham@hotmail.com
Tel : 096-7158383

สนใจสนับสนุนเรา โดยลงโฆษณา
คลิกดูรายละเอียดที่นี่ครับ