เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่มีสมรรถภาพเพื่อใช้ในการสื่อสารกับคนทั้งโลก. ทุกชาติทุกภาษาจึงบรรจุการเรียนภาษาอังกฤษเอาไว้ให้เด็กได้เรียนรู้เพื่ออนาคตของเด็กที่จะต้องเติบโตต่อไปในภายภาคหน้า
ประเทศไทยยุคปัจจุบัน. ก็ได้มองเห็นความสำคัญในการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น หลังจากพบการสำรวจว่าคนไทยอ่อนด้อยในการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับคนทั้งโลก
สำหรับการบรรจุวิชาภาษาอังกฤษของ การศึกษาระดับพื้นฐาน(ประถม)ที่มีการปรับปรุงหลักสูตรกันใหม่ในยุคปฏิรูปประเทศไทย พบว่า จำนวนคาบในการเรียนภาษาอังกฤษที่ให้เด็กชั้นประถมเรียนยังคงน้อยอยู่หากมีเจตนารมณ์ที่จะให้เด็กไทยเก่งทางด้านการใช้ภาษาอังกฤษ(เพื่อลบปมด้อยที่มีอยู่) ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า ในเมื่อเรารับรู้ถึงความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างเป็นเอกฉันแล้ว ก็น่าที่จะส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กที่เริ่มเรียนกันอย่างจริงจังไปเลย อย่างน้อยก็ให้มีคาบการเรียนเท่าๆกับการเรียนในวิชาภาษาไทย
โดยไม่ต้องมาทำเป็นเขินอายว่าภาษาและวัฒนธรรมไทยจะถูกกลืนเมื่อเด็กรู้ภาษาอังกฤษดีขึ้น
และไม่ต้องมาทำตัวเป็นชาตินิยมเพราะเราต้องเข้าใจว่า ทุกวันนี้ภาษาอังกฤษเปรียบเสมือนเป็นมรดกโลกที่ทุกชาติทุกภาษาเป็นเจ้าของเช่นเดียวกัน
ก่อนที่จะบรรจุคาบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับครูผู้สอนนำไปปฏิบัติใช้ใหม่ในปีการศึกษานี้ ผมว่า ศธ. ลองทบทวน จำนวนของคาบวิชาการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กในชั้นประถมให้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่กำหนดออกมาดีกว่าไหมครับ
เพราะการจะให้คนไทยใช้ภาษาอังกฤษให้ทัดเทียมกับเจ้าของภาษาแล้ว เราจำเป็นต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กเล็กอย่างจริงจัง เพื่อปูพื้นฐานให้แน่นต่อการที่จะนำไปเรียนต่อยอดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ไปเร่งกันในตอนที่โตเพราะนั่นไม่ใช่การเรียนที่ถูกต้องในวิชาการใช้ภาษาครับ
ไหนๆประเทศไทยเราก็มีศักยภาพในวิชาการด้านอื่นๆที่ไม่น้อยหน้าประเทศใดๆแล้ว ก็ช่วยกันส่งเสริมในเรื่องของภาษาอังกฤษกันให้มีสมรรถภาพด้วยเถิด ไม่ใช่เก่งไปทุกอย่างแต่ไม่สามารถสื่อสารกับคนทั่วโลกได้
ชนิตร ภู่กาญจน์
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์แนวหน้า