คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าภายในปีนี้กรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้นประมาณ 8-9% ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้โรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งพยายามอย่างยิ่งที่จะให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีในปีหน้า
โดยอ้างว่ายังไม่มีความพร้อมในเรื่องของรูปบัญชีเนื่องจากบางโรงเรียนมีหลายสาขาจึงมีอยู่หลายบัญชีดังนั้นถ้ากรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีจริงขอจัดรูปบัญชีให้เป็นบัญชีเดียวเสียก่อน
รวมถึงการจัดการทรัพย์สินของแต่ละสาขาให้อยู่ในหมวดเดียวกัน
ผลเช่นนี้จึงทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ไปในทางเดียวกันว่าเมื่อโรงเรียนกวดวิชาเสียภาษีเพิ่มภาระคงตกอยู่กับผู้ปกครองที่จะต้องจ่ายค่าคอร์สเรียนของบุตรหลานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ปีนี้ปีหน้าไม่ทราบได้
แต่ที่แน่ๆ ถ้าโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มค่าเล่าเรียนในแต่ละคอร์สจริง ผู้ปกครองจะยอมจ่ายหรือไม่ เรื่องนี้แทบไม่ต้องใช้เหตุและผลใด ๆ ทั้งสิ้น
ผมว่ายอมจ่ายอย่างแน่นอน
คำถามคือ ทำไมผู้ปกครองเหล่านี้ถึงยอมจ่ายเงินให้โรงเรียนกวดวิชา บางคนจ่ายตั้งแต่ ม.1-ม.6 และไม่ใช่แห่งเดียวด้วย เพราะในระบบการเรียน อย่างที่ทุกคนทราบดี มีทั้งสายวิทย์-คณิต,ศิลป์-คณิต, ศิลป์-ภาษา และอื่น ๆ
ยกตัวอย่าง ถ้านักเรียนอยู่สายวิทย์และต้องการสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นักเรียนคนนั้นจะต้องเสียค่าเรียนกวดวิชาในวิชาฟิสิกส์, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ
ซึ่งเป็นวิชาหลักที่ใช้ในการสอบ
นอกจากนั้นต้องไปเรียนวิชาความสามารถทางด้านสถาปัตยกรรมเพิ่มเติม
ซึ่งจะต้องเรียนตั้งแต่ ม.4-ม.6
โดยเฉพาะในช่วง ม.6 จะต้องเข้าแคมป์กินนอนอย่างน้อย 2-3 คืน เพื่อติวเจาะเข้าคณะสถาปัตย์โดยตรง
ความต้องการของนักเรียน ม.6 ที่จะสอบเข้าคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ปีหนึ่งเป็นหมื่น ๆ คน แต่มหา"ลัยรับได้เพียง 140 คนลองคิดเล่น ๆ แล้วกันว่า จำนวน 1 หมื่นกว่าคนที่ตระเวนไปเรียนกวดวิชาในวิชาต่าง ๆ ของสถาบันกวดวิชา รวมถึงสถาบันที่เปิดสอนความสามารถทางด้านสถาปัตย์
เขารับทรัพย์ปีละเท่าไหร่
ที่ยกตัวอย่างให้เห็นนี้คณะเดียวเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงคณะดังๆในมหา"ลัยต่างๆมีตั้งหลายคณะ แต่ละคณะล้วนเป็นคณะในดวงใจของกลุ่มนักเรียน หนุ่ม-สาวทุกยุคทุกสมัยที่อยากจะมีที่นั่งในจำนวนเหล่านั้น
ผมจึงไม่แปลกใจที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกมาประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาในปี2558อยู่ที่8,189ล้านบาท คือเติบโตขึ้นร้อยละ 6.8 จากปี 2557 ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 7,670 ล้านบาท
คำถามของผมคือ เกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาบ้านเรา ?
การเรียนการสอนล้มเหลวใช่ไหม ?
ครูไม่มีประสิทธิภาพใช่หรือไม่ ?
หรือเป็นเพราะนโยบายการจัดการการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการถอยหลังเข้าคลอง
ผมว่าถูกทุกข้อ
แต่ครั้นจะไปแก้ที่ต้นตอคือกระทรวงศึกษาธิการก็อย่างที่ทุกคนทราบกันตราบใดที่กระทรวงแห่งนี้ยังเป็นขุมทรัพย์ของนักการเมืองที่ต่างเข้ามารุมกัดแทะแสวงหาผลประโยชน์เพื่อพวกพ้อง
การศึกษาก็ยังเป็นอย่างที่เราเห็น ไม่มีทางที่จะปฏิรูปสำเร็จ
หรือจะแก้ที่โรงเรียน
ก็อีกแหละตราบใดที่ทุกโรงเรียนยังเอ่ยเรียกค่าบำรุงการศึกษากับผู้ปกครองสนนราคาตั้งแต่หลักหมื่นขึ้นไปจนถึงหลักแสนหรือหลักล้านก็เปล่าประโยชน์
หรือจะแก้ที่ครู
ก็เท่านั้นเพราะตราบใดที่ครูเปิดรับจ้างสอนนักเรียนของตัวเองตามบ้าน อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม หรือตามร้านฟาสต์ฟู้ด โดยคิดราคาชั่วโมงละ 200-500 บาท
เรียนครั้งหนึ่งประมาณ 2 ชั่วโมงอย่างต่ำประมาณกลุ่มละ 5-7 คน ก็เสียเวลาเปล่า
ทั้งนั้นเพราะครูก็เป็นมนุษย์ มีโลภ โกรธหลง มีความอยากได้ใคร่มี เพราะต้องผ่อนรถยนต์ คอนโดมิเนียม และอะไรต่อมิอะไร เรื่องอะไรเขาจะดำเนินชีวิตแบบเรือจ้างเหมือนในอดีต
ที่ขอแค่เป็นคนส่งนักเรียนถึงฝั่งเท่านั้นก็ใจเป็นสุข
ผมว่าทางออกของเรื่องนี้คงต้องใช้วิธีสลับตัวบุคลากรทางการศึกษาโดยเอาติวเตอร์ชื่อดังทั้งหลายเข้ามาสอนในโรงเรียนมีเงินเดือนที่ดีทั้งยังมีแบ่งเปอร์เซ็นต์กันให้ชัดเจนระหว่างติวเตอร์กับทางโรงเรียน
รวมทั้งติวเตอร์เหล่านี้ก็เข้าไปประจำการคณะดังๆทั้งหลายในมหา"ลัยที่นักเรียนอยากสอบเข้าเปิดคอร์สอนโดยตรงแล้วแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ติวเตอร์กับคณะเหล่านั้นอย่างเป็นธรรม
พูดง่าย ๆ คือในราคาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
พร้อมกันนั้นก็ยุบกระทรวงศึกษาธิการทิ้งไปเลย เพราะมีก็เหมือนไม่มี เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตการศึกษาของประเทศชาติได้เลย ทั้ง ๆ ที่กระทรวงแห่งนี้มีงบประมาณมากที่สุด
แต่ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันเลย
ผมว่าทางออกของเรื่องนี้ไม่ต้องใช้ตรรกะมากนักหรอกแค่ลองคิดเล่นๆดูถ้าทำได้จริงการศึกษาของบ้านเราอาจจะโงหัวขึ้นบ้างก็ได้
ใครจะไปรู้ ?
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 25 เม.ย 2558