Advertisement
“ความพินาศ ของระบบการศึกษา การวิจัยไทย : สร้างโปรดักต์...โปรแกรมคน หรือจะเอาแต่กระดาษ”....เป็นหัวข้อสนทนาจากหัวใจของ “หมอดื้อ” หรือ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตลอดเวลายาวนานของระบบการศึกษาไทยในระดับมหาวิทยาลัย ล้วนแล้วแต่ต้องการสร้างชื่อเสียง โดยการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการและการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มค่าให้แก่นักวิชาการ อาจารย์ นักวิจัย และเป็นบรรทัดฐานให้แก่นิสิตที่จะต้องเรียนจบปริญญาตรี โท เอก
และ...มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าการจัดอันดับโลกของมหาวิทยาลัยขึ้นกับปริมาณจำนวนของการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทําให้มีการออกกฎระเบียบในปัจจุบัน คือทุนวิจัยที่ทางมหาวิทยาลัยต่างๆของประเทศไทย ให้มีมูลค่าผลงานตีพิมพ์ 1 เรื่อง ต่อทุน 400,000 บาท
รวมถึงนิสิตปริญญาระดับต่างๆ ซึ่งมีทุนสนับสนุนวิจัยน้อยนิด แต่ยังคงต้องกระเสือกกระสนพยายามให้ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึงการนําไปใช้งานได้จริงหรือไม่?...ก่อให้เกิดประโยชน์จริงในการแก้ปัญหาของประเทศหรือเปล่า?
ความจริงอีกด้าน...ข้อโต้แย้งจากนักวิชาการ นักวิจัย ปัญหาของประเทศถึงพอจะรู้ทางแก้ แต่ก็ตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติไม่ได้ เพราะเป็นจริงเฉพาะของเมืองไทย หรือตีพิมพ์ก็ได้แต่วารสารในประเทศ ซึ่งก็ดูกระจอกงอกง่อย ไม่มีคนยอมรับ ทําให้เป็นที่มาของข้อสรุปที่ว่า...เป็นการวิจัยบนหอคอยงาช้าง งานวิจัยชั่งกิโลฯ
ทว่าการผลิตผลงานเพื่อตีพิมพ์ไม่ใช่เป็นเรื่องไร้ประโยชน์เสียทีเดียว การที่นักวิชาการ นักวิจัยไทย สามารถค้นคว้า ค้นพบของใหม่หรือของประยุกต์ ซึ่งตอบโจทย์หรือนําไปสู่กระบวนการนวัตกรรมใหม่ๆในอนาคต ถือเป็นเรื่องประกาศความเก่งกาจให้ชาวโลกรู้ แม้จะเป็นการค้นพบบันไดขั้นที่ 1 หรือ 2 ก็จะเป็นแนวทางต่อถึงขั้นที่ 10
ปัญหาของประเทศ...เมื่อได้บันไดขั้นที่ 2 ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์แล้ว หรือได้เหรียญรางวัลแล้ว ไฟก็ม้วยมอดไป...หมดความกระตือรือร้นที่จะทําการศึกษาต่อและทําให้เมื่อนับผลงานตีพิมพ์วิจัยของประเทศในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เราน่าจะอยู่ในอันดับต้นๆ ในด้าน...นํ้าหนักเป็นกิโลกรัม หรือเป็นตัน
แต่เหตุไฉน...มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งอยู่ในอันดับโลก แม้จะมีน้อยกิโลฯแต่ได้รับการยอมรับ... คุณหมอธีระวัฒน์ สะท้อนว่า ฮ่องกงเมื่อเผชิญวิกฤติโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส สามารถประคองตัว เอาตัวรอด ปรับปรุงการบริหารการจัดการ การเฝ้าระวังไม่ให้มีการระบาดต่อเนื่องได้อย่างน่าสรรเสริญ
“มิหนําซํ้ายังมีการค้นหาสืบพบสัตว์ต่างๆที่อมโรค แพร่โรคให้มนุษย์อย่างต่อเนื่อง...แบบอย่างการโต้ตอบโรคระบาดร้ายแรง เป็นแบบฝึกหัดอย่างดีให้ประเทศไทยเลียนแบบ”
เกริ่นมาถึงเพียงนี้เพื่อเป็นที่สรุปว่าเราจะเอา...ผลงานจับต้องได้ ใช้งานได้ โปรแกรมที่นํามาปรับปรุงคุณภาพสายงาน บุคลากร การทํางาน บูรณาการ การสร้างคนที่เป็นคนชั้นยอด หรือ...จะเอาแต่กระดาษตีพิมพ์
สองขั้วข้างต้นอยู่คนละข้าง ความเป็นจริงต้องไปด้วยกัน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่อง...ประเทศที่เจริญแล้ว การเติบโตเป็นทุกภาคส่วนพร้อมกัน ตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า ปลายนํ้า จนถึงมีผลผลิตใช้งานได้จริง
แต่...ระบบการศึกษาของไทยขั้นสูงสุด ยึดกล่องพุ่งต้นนํ้าก็ไม่ถึงสักที โนเบลก็ไม่ได้ จะว่ายมากลางนํ้าก็ส่งผ่านต่อไปได้ไม่ถึงปลายทาง วกวนกับงานวิจัยที่แข่งกับฝรั่งในเรื่องที่ต้นทุนเราไม่พอ โดยไม่ตอบโจทย์ประเทศไทยที่งานวิจัยที่ต้องการคําตอบ...ไม่มีใครแย่งทํา เพราะตีพิมพ์ไม่ได้ ไม่ผ่านภาระงาน พิจารณาขึ้นขั้นไม่ได้
จีน...อินเดีย ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว มีไหมงานวิจัยตีพิมพ์สวยหรู แต่...วางแผนสร้างความรู้เทคโนโลยีตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้า ผลิตยาได้เอง มีสินค้าไฮเทคส่งออกทั่วโลก ผลิต...เครื่องจักร รถไฟ รถไฟฟ้าได้ในราคาถูก
ตามคำปราชญ์ท่านหนึ่งซึ่งต้องกราบขออภัยที่ไม่ทราบชื่อ ท่านกล่าวว่า “สัมผัสฟ้า ซับน้ำตา คือปรัชญาการวิจัย”
ไม่อยากจะพูดว่าระบบการศึกษาไทยที่เห็นๆกันขณะนี้...ล่มสลายไปเรียบร้อย พังพินาศต่อเนื่องกันมาเป็นสิบปี ไม่ได้...อยู่แค่ขั้นวิกฤติเข้าไอซียูอย่างที่นักวิชาการหลายท่านพูดปลอบใจ
ถ้าเราเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่วันนี้เราจะยังมีเด็กรุ่นใหม่ให้เห็นเป็น เจน (เนอเรชั่น) A...เกรด A อีกใน 20-25 ปี เพราะต้องผ่านประถม มัธยม อุดมศึกษา ซึ่งต้องไม่ลืมรวมขั้นอนุบาลเข้าไปด้วย และต้องมีประสบการณ์ใช้งานได้ด้วยความสุขุมคัมภีรภาพ ฉะนั้น...ต้อง “จํากัด” และ “กําจัด”...ผู้สร้าง “ระบบวงจรอุบาทว์” ที่เกิดขึ้นให้ได้
คุณหมอธีระวัฒน์ ยอมรับว่าไม่ได้มีอะไรวิเศษวิโสกว่าท่านทั้งหลาย ...ยังต้องก้มหน้าก้มตาทํางานเป็นข้ารับใช้ระบบ ที่ต้องมีภาระงานนานาตามที่กําหนด แต่ ณ สถานการณ์ปัจจุบันคงได้เห็นหลักฐานแจ้งประจักษ์แล้วว่าวงจร (อุบาทว์)...การศึกษาของไทย นอกจากไม่สร้างคน ยังทําลายคนรุ่นใหม่อย่างไม่ยั้งมือ
ตั้งแต่ อนุบาล...กลัวเข้าโรงเรียนดังไม่ได้ จับเด็กเล็กที่ควรพัฒนาสมองให้เปิดกว้างซึมซับธรรมชาติอย่างถูกต้อง จับมาท่องศัพท์ คิดเลข อัจฉริยะ ขั้น มัธยม...มีติว จะเข้ามหาวิทยาลัยยิ่งหนัก การเรียนการสอนนอกระบบห้องเรียน แท้จริงคือจับเข้าอีกห้องของโรงเรียนกวดวิชา ที่ครูติวมีชื่อเสียงแถมรวยอีกต่างหาก เพราะติวตรงข้อสอบ...ให้ตอบตรงที่ถาม ฉะนั้นเรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับสอบ ชั่งมัน
เพื่อให้ไต่เต้าระดับการศึกษา...จนจบปริญญาโท–เอก ความใฝ่รู้ หาความรู้ด้วยตนเองเป็นแค่คําขวัญและความฝันของกระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นแค่โฆษณา...เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาแห่งชาติตามตัวหนังสือโก้เก๋
ประสบการณ์จากการได้ไปสอนแพทย์จากอินเดีย เนปาล มัลดีฟส์ เป็นเวลา 6 วัน ตามภารกิจการเป็นศูนย์ร่วมองค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับไวรัสสัตว์สู่คน สิ่งที่เห็นชัดเจนที่แตกต่างหลังมือเป็นหน้ามือ คือไม่มีใครหลับตั้งแต่ 08.30 ยัน 17.30...เตรียมคําถามมาเพียบ...เอารูปผู้ป่วยมาให้ดู ถกปัญหาที่มีในปัจจุบันและปัญหาที่อาจจะเกิดในอนาคต ทั้งที่เกิดในพื้นที่เอง...จากนอกพื้นที่ รวมถึงโรคติดต่อ...โรคที่ไม่ติดต่อที่เกิดจากความเจริญของมนุษย์สารพัด
ตลอด 6 วัน แม้จะชื่นใจที่งานลุล่วงและเป็นแม่แบบในการอบรมครั้งต่อๆไป แต่อดสะท้อนใจไม่ได้กับสภาพของนักเรียน นิสิตในเมืองไทย ...ความที่ต้องอยู่ในแวดวงการศึกษามาหลายสิบปีจะโทษนักเรียนก็ไม่ถูก
เพราะแต่ละหลักสูตร แต่ละรายวิชาหวังดี ยัดเยียดความรู้ประดามีในโลกให้เด็กกันมโหฬาร เด็กเองไม่มีโอกาสคิดด้วยซํ้าว่ามีข้อสงสัยไหม ต้องเล็งว่าครูสอนเน้นตรงไหนสําหรับสอบ ไม่เคยรู้ว่าปัญหาเมืองไทยอยู่ที่ไหน เรียนเรื่องวิชาต่างๆมากมายจนแยกไม่ออกว่าตรงไหนสำคัญสําหรับชีวิต
และสําหรับการทํางานในอนาคตเพื่อตนเองและสังคม ไม่มีโอกาสหา...ความรู้รอบตัว อ่านหนังสือพิมพ์ ติดตามข่าวสารความเป็นไปในโลก ทำเพียงตอบให้แม่นเวลาสอบ เก็บคะแนน...เป็นของขวัญพ่อแม่ เพื่อได้ประดับตนในการเรียนต่อในขั้นสูง
ระดับอุดมศึกษา แต่ละมหาวิทยาลัยก็มุ่งเกียรติยศ ตั้งเป้าติดอันดับ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก ขณะที่อาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ต้องทําวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่มีแต้มต่อสูง ทุนก็หายาก เวลาก็ไม่มี บ้านก็ต้องเช่าหรือยังผ่อน ครอบครัวก็เพิ่งเริ่มต้น ได้งานวิจัยแบบเบี้ยหัวแตก ตอบโจทย์ให้ใครไม่รู้
ระบบการศึกษาที่มุ่งหวังเรียนสูงๆ สร้างปริญญาเอกเป็นแสน เพื่ออะไร...คงต้องทบทวน.
ที่มา ไทยรัฐ 22 เม.ย. 2558
Advertisement
เปิดอ่าน 7,585 ครั้ง เปิดอ่าน 61,852 ครั้ง เปิดอ่าน 12,434 ครั้ง เปิดอ่าน 120,203 ครั้ง เปิดอ่าน 15,026 ครั้ง เปิดอ่าน 12,626 ครั้ง เปิดอ่าน 16,889 ครั้ง เปิดอ่าน 8,822 ครั้ง เปิดอ่าน 32,748 ครั้ง เปิดอ่าน 10,141 ครั้ง เปิดอ่าน 8,225 ครั้ง เปิดอ่าน 11,182 ครั้ง เปิดอ่าน 12,100 ครั้ง เปิดอ่าน 7,366 ครั้ง เปิดอ่าน 10,940 ครั้ง เปิดอ่าน 32,600 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 17,432 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 75,081 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 10,121 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 13,025 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 23,682 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,950 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,530 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 23,851 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,219 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,667 ครั้ง |
เปิดอ่าน 10,835 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,314 ครั้ง |
|
|