โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
แม้ฝุ่นที่ตลบอบอวลไปทั่วรั้วเสมา จากคำสั่งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเริ่มจางลงบ้าง แต่ข้อสงสัยในเงื่อนงำของคำสั่งดังกล่าว กลับไม่คลายลงตามไปด้วย
คำสั่งโยกย้าย สุทธศรี วงษ์สมาน พ้นจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พินิติ รตะนานุกูล พ้นจากเลขาธิการ สกศ.ไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) นพ.กำจร ตติยกวี พ้นจาก เลขาธิการกกอ.ไปเป็นปลัด ศธ. บัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร พ้นจากเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ไปเป็นผู้ตรวจราชการ ศธ. อดินันท์ ปากบารา พ้นจากผู้ตรวจราชการ ศธ.ไปเป็นเลขาธิการ กช.และ รัตนา ศรีเหรัญ พ้นจากรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งสมมติฐานหลายด้าน
ประเด็นหลักๆ ของการโยกย้ายครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ผู้บริหาร ศธ.ทุกแท่ง ระแคะระคายมาโดยตลอด เพราะหลังจากการโยกย้ายรอบแรกเมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2557 หลัง คสช.ยึดอำนาจจนถึงวันนี้ พบว่าผลงานพัฒนาด้านการศึกษาของ ศธ.ยังไม่มีให้เห็นมากนัก เพราะหลายเรื่องต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานปลัด ศธ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะขมวดภาพผลงานของ ศธ.ได้
จึงมีแนวคิดเรื่องสลับสับเปลี่ยนให้ผู้ที่เหมาะสมมาทำหน้าที่แทน จนนำไปสู่การทาบทาม นพ.กำจร ให้มานั่งในตำแหน่งปลัด ศธ.แทน สุทธศรี แต่หากสลับให้ สุทธศรี ไปนั่งในตำแหน่งเลขาธิการ กกอ.แทน อาจจะถูกกระแสคัดค้านจากมหาวิทยาลัยต่างๆ
เพื่อลดความกดดันจึงย้าย พินิติ ซึ่งเคยเป็นเลขาฯ กกอ.ที่ข้าราชการใน กกอ.ให้การนับถือ กลับไปนั่งตำแหน่งเดิม ส่วน สุทธศรี ให้ย้ายกลับไปเป็นเลขาธิการ สกศ. ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานเดิมที่ สุทธศรี เปรยว่าอยากกลับไปเกษียณที่นั่นอยู่บ่อยครั้ง
“เรื่องนี้มีการลับลวงพราง เพื่อวางกำลังคนที่ไว้ใจ ไว้ในตำแหน่งที่จะว่างลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพราะทั้งตำแหน่งเลขาฯ สกศ.และเลขาฯ สกอ.จะว่างลง เนื่องจากเลขาฯ คนปัจจุบันทั้งสองคนจะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ ศธ.จะต้องเร่งสรรหารายชื่อเลขาธิการคนใหม่มาเป็นรายชื่อสำรองไว้ก่อนเดือน ต.ค.ที่จะมาถึง ประกอบกับอาจจะเป็นการสางขั้วอำนาจการเมืองเก่าที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ หลังจากที่เคยย้าย อภิชาติ จีระวุฒิ เลขาฯ กพฐ. ไปเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้ง กมล รอดคล้าย รองเลขาฯ กพฐ.ขึ้นเป็นเลขาฯ กพฐ.แทน การโยกย้ายครั้งนั้นถูกตั้งคำถามอย่างชัดเจนว่า ทำไมไม่มีชื่อ สุทธศรี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศธ.”แหล่งข่าวระบุ
นอกจากนี้ การโยกสลับผู้บริหาร ศธ.รอบนี้ ยังถูกมองอีกว่าสอดคล้องกับคำสั่งให้ยุติการทำงานในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และองค์การค้าคุรุสภา ที่มีข้อมูลและการร้องเรียนเกี่ยวกับผลประโยชน์และการทุจริตรายงานมายัง ศธ.โดยตลอด
โดยเฉพาะกรณีปัญหาการทุจริตการก่อสร้างอาคารพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาภาค จ.เชียงใหม่ จำนวน 360 ล้านบาท และล่าสุดกรณีที่ถูกร้องเรียนว่า บอร์ด สกสค. นำเงินสมาชิกโครงการการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งได้จากดอกเบี้ยที่ครูและบุคลากรทางการศึกษากู้จากธนาคารออมสิน เพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ปัจจุบันมียอดกว่า 6,000 ล้านบาท ไปลงทุนกับบริษัทเอกชน ซึ่งถือเป็นการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ รวมถึงกรณีอื่นๆ แต่ไม่มีรัฐบาลใดสามารถจัดการได้
“เคยมีแนวคิดยุบทั้งสองหน่วยงานนี้ในที่ประชุมผู้บริหาร ศธ.มาก่อน แต่พบว่าหากยุบแล้วจะมีอุปสรรคหลายด้าน และมีปัญหาอื่นตามมามากอีกหลายเรื่อง เช่น ต้องแก้กฎหมาย ปรับโครงสร้างของหน่วยงานใหม่ เพื่อรองรับการบริหารงบประมาณจำนวนมาก หาคณะบริหารที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือมาแทน แต่หากเลือกวิธียุบบอร์ด อำนาจการบริหารก็จะถูกดึงกลับมาอยู่ในมือ รมว.ศธ. ประกอบกับเนื่องจากบอร์ดทั้ง 16 คน ที่ถูกปลด เป็นตัวแทนครู ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ได้รับการเลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งและมีฐานเสียงจากพรรคการเมืองขั้วอำนาจเดิม ที่ถึงเวลาที่จะต้องสลายให้หมด เพื่อรองรับแผนปฏิรูปในอนาคต” แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยและย้ำว่า หลังจากนี้ ศธ.จะเข้าสู่ยุคตึงเครียด ที่ข้าราชการระดับสูงไม่กล้าทำงานแบบปล่อยเกียร์ว่างอย่างแน่นอน
ที่มาภาพและข่าวจาก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ 20 เมษายน 2558